กรุงเทพฯ 9 มิ.ย.-ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแม้เสียง กนง.แตกผลคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่มองว่าเป็นช่วงที่เหมาะสมคงดอกเบี้ยตามไปก่อน หลังสงคราม 2 ประเทศยืดเยื้อดันราคาน้ำมันโลกสูง ชี้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้นโยบายด้านการคลัง หาทางตรึงราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้สูงไว้ก่อนเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับคยทั้งประเทศ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคพ.ค.65 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงผล กนงฺ คงดอกเบี้ยนโยบายเท่าเดิมด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 3 นั้น แม้ว่าเสียงที่เห็นด้วยให้คงอัตราดอกเบี่ยไว้ ซึ่งมองว่าขณะนี้หลายปัจจัย โดยเฉพาะสงครามรัสเซียและยูเครนที่ดูว่าจะยืดเยื้อและจบลงไม่ได้โดยเร็วที่ส่งผลให้ราคาน้ำมัน พลังงาน วัสดุดิบอาหารและอื่นๆอยู่ในขั้นวิกฤติไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบทางทางตรงและทางอ้อมอย่างมาก
ซึ่งทางศูนย์ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ควรขึ้นในตอนนี้ และให้ไปดูว่าหากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจริงในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือไตรมาสที่ 4 ค่อยพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่ง แม้จะสกัดขึ้นเงินเฟ้อได้ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้นโยบายรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิม เพราะต้องการดูและรักษาไม่ให้เศรษฐกิจตกลงไปมาก เพราะหากไม่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิม จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยับตัวสูงขึ้นมาไปเห็นได้จากเดือนพ.ค.65 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นถึงร้อยละ 7.1 และมีแนวโน้นเงินเฟ้อจะขยับขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 7-10 ก็เป็นไปได้สูง เนื่องจากทั่วโลกไม่แน่ใจว่าสงคราม 2 ประเทศจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 130-140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีโอกาสขยับขึ้นได้อีก 10-20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกทั้งดีเซลและเบนซินขยับตัวเพิ่มขึ้นไปอีกได้ ดังนั้น จึงต้องมาดูว่านโยบายด้านการคลังผ่านตัวการตรึงราคาน้ำมันไว้โดยดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรที่จะขอดูในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้จะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นหรือภาครัฐจะหาทางตรึงราคาน้ำมันต่อไปอีกหรือไม่
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าจากราคาน้ำมันสูง ค่าครองชีพแพง แม้อัตราเงินเฟ้อสูงแต่ก็เป็นการสูงจากปัญหาราคาน้ำมันไม่ใช่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายด้านการคลัง เช่น การลดราคาน้ำมันดีเซลต่อไป และหาทางลดอัตราภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจ การใช้นโยบายผ่านโครงการคนละครึ่งและอื่นๆที่เคยทำอยู่ รวมถึงกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการธงฟ้าทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าไม่แพงมากจนเกินไป พร้อมดูแลในเรื่องของค่าไฟฟ้าและอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านี้ประเทศไทยโดยเฉพาะการแพร่ระบาดโควิดจะเบาลงจนภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งตามคาดการณ์เดิมทางศูนย์ประเมินไว้เศรษฐกิจจะโตได้อยู่ที่ร้อยละ 2.5-3 แต่ด้วยปัจจัยผลกระทบในหลายๆด้านที่ประกอบเข้ามา โดยทางศูนย์จะประเมินและประกาศคาดการณ์ใหม่อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีแนวโน้นเศรษฐกิจจะลดลงบ้างแต่จะเป็นอัตราไหนจะแถลงให้ทราบอีกที
นอกจากนี้ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนพ.ค.65 โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.ย. 64 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะคลี่คลายลงเป็นลำดับและรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจธุรกิจและการเปิดประเทศมากขึ้นแล้วก็ตามซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมปรับตัวลดลง .-สำนักข่าวไทย