กรุงเทพฯ 25 พ.ค.-IRPCวางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนSpecialty จาก 24% ในปี 2565 เป็น 52% ในปี 2568 ลงทุนปรับ IN LINE เป็นหลัก หวังเพิ่มมาร์จิ้น ส่วนไตรมาส2/65 คาด ผลดำเนินการดีกว่าไตรมาสแรก ยอมรับต้นทุนพุ่งขยับราคาขายเม็ดพลาสติกไปแล้ว 5-10%
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC คาดว่า ผลดำเนินการไตรมาส 2 /65 จะดีกว่า ไตรมาส 1 /65 ซึ่งเป็นผลจากทั้งการกำไรสตอกน้ำมันที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น คาดราคาดูไบเฉลี่ยมากกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนต่างผลิตภัณฑ์ของปิโตรเคมีขยับดีขึ้น ในขณะที่ยอดขายทรงตัว อย่างไรก็ตาม ได้รับผลกระทบบ้างจากที่จีนล็อกดาวน์ และการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ ของโรงงานรถยนต์ โรงงานอิเล็กททรอนิกส์ อย่างไรก็คาดว่าในขณะนี้จีนเริ่มคลายล็อกดาวน์ และสหรัฐและจีนมีความคืบหน้าเรื่องการปลดรายชื่อสินค้าที่เกิดจากการกีดกันการค้าระหว่างกัน นับว่าอาจจะเป็นการสินสุดสงครามการค้าระหว่างการกัน ก็คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าปิโตรเคมีดีขึ้นและเป็นผลบวกต่อไออาร์พีซี
“จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามชะลอการขึ้นราคาเม็ดพลาสติก แก่ลูกค้าให้มากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่า ก็ต้องขยับขึ้นบ้าง โดยขึ้นราว 5-10% ซึ่งราคาปิโตรเคมีปลายทางก็ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลก ซัพพลายด์ และดีมานด์ ในขณะที่ ไออาร์พีซีก็ได้พยายามปรับตัวโดย เพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนSpecialty จาก 24% ในปี 2565 เป็น 52% ในปี 2568 ซึ่งจะทำให้มาร์จินของบริษัทดีขึ้น และปีนี้เจรจาดีลใหม่เพื่อการลงทุนคาดจะจบ1-2 ราย ส่วนรายใหญ่ที่พูดคุยก็ยอมรับว่าจากการเปลี่ยนแปลงของโลกจากหลายปัจจัยก็ต้องทบทวนให้ดี” นายชวลิตกล่าว
ทั้งนี้ ไออาร์พีซี ได้ปรับตัว รับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ทาง IRPC ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมวัสดุและพลังงาน รองรับ โดยโครงการส่วนใหญ่ลงทุนไม่มากนักเพราะเป็นการปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตให้สร้างมูลค่า (IN LINE ) เช่น โครงการ Acetylene Black for Li-ion Battery วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ (Li-ion battery) มีการเพิ่มคุณสมบัติให้มีความพิเศษมากขึ้นในเรื่องความบริสุทธิ์และการนำไฟฟ้าสูง ช่วยลดเวลาการอัดประจุไฟฟ้า กำลังการผลิต 1.2 KTA รวมถึงอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรอง (Energy Storage) คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ต้นปี 2570
โครงการขยายกำลังการผลิต ABS โดยใช้ Agglomeration Technology กำลังการผลิต 9.8 KTA เน้นตลาดกลุ่ม EV, charging station, drone, รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ IRPC ในส่วนของการผลิต ABS Powder จากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการผลิต คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปี 2568
IRPC อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ EV เช่น Battery Separator และ Li-ion Anode รวมถึงได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีนคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Polymers (Thailand) Co. Ltd) รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ IRPC ยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดย วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี หรือ IRPCT ร่วมกับบริษัท อรุณพลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS บริษัทในกลุ่ม ปตท. พัฒนาหลักสูตรและสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน EV เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในบริษัทด้าน EV ของ กลุ่ม ปตท. ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้วในปัจจุบัน เช่น on-ion EV Charging Station หรือ Swap & Go สถานีบริการเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์แบบไม่ต้องรอชาร์จ รวมถึงโรงงานผลิต EV ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ARUN PLUS และ Foxconn
IRPC ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2565 คาดจะอยู่ในระดับ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากช่วงไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ระดับ 95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยสเปรดผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะกลุ่มล่าสุดขยับขึ้นมาที่ระดับกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าไตรมาส 1/2565 ที่ประมาณ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีการปรับขึ้นสูวประมาณเดือนเม.ย.-พ.ค. เป็นผลดีต่อค่าการกลั่นตามราคาตลาด (Market GRM)
IRPC ตั้งเป้าในปี 2568 จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ประมาณ 25,000 ล้านบาท และในปี 2573 มี EBITDA ประมาณ 35,000 ล้านบาท ด้านงบลงทุนรวม 5 ปี (ปี 2565-2569) ตั้งไว้ประมาณ 41,000 ล้านบาท ลงทุนในปี 2565 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 2567, โครงการ Innopolymed ผลิตผ้าประเภทไม่ถักไม่ทอ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย ชุด PPE เป็นต้น โดยบริษัทถือหุ้น 60% ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 89% คาดว่า จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2565 . -สำนักข่าวไทย