กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – รมว.พาณิชย์ เผยผลประชุมการค้าเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพถือว่าปิดฉากประชุมไปได้ดี หลายแนวทางเห็นตรงกัน แต่บทสรุปยังไม่แถลงการณ์ร่วม ชี้ไม่ได้ผิดปกติเหมือนกับที่ประชุมที่ผ่านๆ มา แต่ทุกประเทศพร้อมที่จะร่วมมือการค้าระหว่างกันอย่างเต็มที่ เพื่อเดินหน้าสู่ FTA เอเปคให้สำเร็จได้โดยเร็ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยภาพรวมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพตลอด 2 วันที่ผ่านมารวมทั้งวันนี้ ในฐานะประธานในที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมกับรัฐมนตรีการค้าเอเปคจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคหรือที่เรียกว่า ABAC (สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค) และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกเอเปคในการผลักดันและกำหนดทิศทางผ่านการแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองที่หลากหลายในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤต โควิด-19 ไปด้วยกัน รวมทั้งการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตามหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2022 ที่ประเทศไทยกำหนดขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance”
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามเพราะหัวข้อหลักที่ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “Open. Connect. Balance” เป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุผลเป็นรูปธรรมทั้งจากความเห็นของที่ประชุมและที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ในเรื่องของ Open คือการเปิดกว้างและเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ผลรูปธรรมที่ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นร่วมกันคือการที่เราจะนำเอเปค ไปสู่การจัดทำ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific)ให้เกิดขึ้นในอนาคต สำหรับเรื่อง Connect หรือการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจทั้งในส่วนของบุคคลหรือสินค้าและบริการ ได้มีการตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า APEC Safe Passage Task Force เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และส่วนคำว่า Balance หรือสร้างสมดุล มีความเห็นที่ตรงกันในทุกเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมให้มุ่งเน้นการสร้างสมดุลในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงานและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกระดับ ตั้งแต่คนตัวใหญ่จนกระทั่งถึงคนตัวเล็ก ในระดับ SMEs และMicro-SMEs เแรงงาน ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง สตรีและอื่นๆ
นอกจากนั้น สัญญาณอีกข้อที่สะท้อนความสำเร็จของประเทศไทยคือการที่ทุกเขตเศรษฐกิจได้ยอมรับและสนับสนุน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ของไทย ให้เป็นวิสัยทัศน์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคในอนาคต
“แม้ว่าผลการประชุมจะไม่ติดขัดอะไร แต่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชุมไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของการประชุมเอเปคได้เช่นเดียวกับบางครั้งที่เกิดขึ้นในอดีต โดยทั้งหมดนี้จะมีผลลัพธ์ในรูปถ้อยแถลงหรือแถลงการณ์ของประธานการประชุมเอเปค คือประเทศไทยในรูป Chair Statement แทน ซึ่งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกร่าง เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการยกร่างและจะประกาศเป็นทางการในรูปเอกสารต่อไป ดังนั้น แม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม แต่ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จและประเทศไทยเคารพความเห็นของทุกเขตเศรษฐกิจรวมทั้งประเทศไทยยังพร้อมทำงานร่วมกับเอเปคอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้ง FTAAP การสนับสนุนการค้าในรูปแบบพหุภาคีรวมทั้ง WTO และการจับมือเดินไปด้วยกันอยู่ร่วมกันกับโควิดและอนาคตต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ การแถลงการณ์ร่วมจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีความเห็นตรงกันทั้งหมดที่เรียกว่าเป็นฉันทามติ ถ้ามีแม้เขตเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งเห็นไม่สอดคล้องก็ไม่สามารถประกาศได้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเนื่องจากมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นพ้องกันในการให้มีแถลงการณ์ร่วม เพียงแต่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เห็นไม่สอดคล้องกัน บางเขตเศรษฐกิจเห็นไม่ตรงกัน เป็นที่มาที่ทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้.-สำนักข่าวไทย