กรุงเทพฯ 19 พ.ค.- รมว.คมนาคม เผยกำลังเร่งพัฒนาการขนส่งทางน้ำและมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีทำบุญวันคล้ายวันสถาปนาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ครบรอบ 71 ปี ว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา กทท. ได้พัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งดำเนินโครงการและกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กทท. ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะารแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้บริหารและพนักงาน กทท. ได้ร่วมกันปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นจนทำให้ผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวมาได้โดยตลอด และกทท.เป็น 1 ใน 10 รัฐวิสาหกิจชั้นนำของไทย ที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศสูงสุด ซึ่งตนได้ให้นโยบาย ในการเตรียมรับสิ่งที่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้ ประกอบด้วย การรักษาประสิทธิภาพการบริหาร ที่ต้องนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย คือระบบ Port Automation มาใช้ รวมถึงได้มอบนโยบายการเตรียมความพร้อมรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2568 การท่าเรือมีภารกิจในเรื่องของแหลมฉบัง และอาจจะต้องไปช่วยมาบตาพุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมการทั้ง การศึกษา บุคลาการ เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถเป็นเท่าตัว นอกจากนั้น ขณะนี้รัฐบาล ได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมศึกษาโครงการเชื่อมโยงโลจิสติก เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งเป็นภารกิจที่การท่าเรือต้องเข้าไปดู โดยเฉพาะ business model ทั้งในรูปแบบการร่วมลงทุน และสนับสนุนภาคเอกชน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นประตูทำให้แหลมฉบัง EEC เป็นประตูขนส่งทางน้ำ ที่สามารถย่นระยะเวลาเดินทางโดยไม่ต้องอ้อมไปมะละกา เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
ขณะนี้โครงการแลนด์บริจ ระนอง-ชุมพรที่กระทรวงกำลังศึกษาอยู่ เบื้องต้นในเฟสที่1 เป็นไลน์ที่รองรับโลจิสติกที่เคยผ่านมะละกา ออกมาได้ 10-20% หมายถึงปัจจุบันมีเรือแล่นผ่านมะละกาประมาณ 9หมื่นลำต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีประมาณ 1แสน 2 หมื่น 5 พันลำ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจราจรทางน้ำที่ติดขัด เมื่อมีโครงการนี้ขึ้นมาเป็นทางเลือกให้บริษัทเดินเรือขนาดใหญ่มาใช้บริการ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการสายการเดินเรือระดับโลกและพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องหลังท่าให้ครบวงจร ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมการ ทั้งการซ่อมบำรุง การจอด เรื่องอาหาร น้ำมัน ธุรกิจที่ต่อเนื่อง ดีมานด์ ซัพพลาย ต้องศึกษา ไม่ว่าจะทำเอง หรือร่วมกับเอกชน เพื่อให้ผลประโยชน์ตกสู่ประเทศไทยให้มากที่สุด โดยคาดว่าจะมีเรือเข้ามาผ่านไม่น้อยกว่า 2หมื่นลำต่อปี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ และการสนับสนุนการส่งออก – นำเข้า เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน.-สำนักข่าวไทย