กรุงเทพฯ 17 พ.ค – “ชัชชาติ” บุกเสาชิงช้า-กทม.2 ลุยหาเสียงข้าราชการ กทม. ย้ำนโยบายบริหารจัดการดี “โปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น” ข้าราชการ กทม. ต้องหันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 พูดคุยกับข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงาน กทม. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง สำรวจการทำงาน และรับฟังปัญหาจากข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงาน เสนอแนวคิด “โปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น” และเน้นย้ำให้ข้าราชการ “หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน” มุ่งเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักในการพัฒนากรุงเทพฯ
นายชัชชาติ ย้ำว่าการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงาน กทม. จะต้องมีความ “โปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น” โดยพร้อมดำเนินการอย่างจริงจังกับปัญหาการจ่ายส่วย มีมาตรการปรับ และลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งในระดับปฏิบัติการ และผู้บริหาร พัฒนาระบบในการติดตามกระบวนการออกใบอนุญาติต่างๆ ให้ประชาชนสามารถติดตามได้ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจ่ายส่วย จ่ายใต้โต๊ะ ให้กรุงเทพฯ มีความโปร่งใส และปราศจากการคอร์รัปชั่น
“ข้าราชการเป็นส่วนสำคัญมากๆ ในกทม. เรามีข้าราชการเก่า ผู้บริหารเก่า ที่ตรวจสอบแล้วเป็นผู้บริหารน้ำดี มือสะอาด เข้าใจในกฎระเบียบ และรายละเอียดอยู่ในทีม ทำให้สามารถเริ่มงานได้ทันที ถ้าเราได้โอกาสในการบริหารกทม. โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการทำงานของข้าราชการ” นายชัชชาติกล่าว
นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังเสนอนโยบายเปลี่ยนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมือง และเปลี่ยนลานคนเมืองที่ปัจจุบันมักถูกล้อมรั้ว ไม่สามารถใช้งานได้ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน ด้วยการย้ายส่วนราชการที่เดิมปฏิบัติงานอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ไปยังศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง ซึ่งเปิดใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี แต่ยังไม่สามารถย้ายส่วนราชการมาได้ทั้งหมด หากสามารถย้ายส่วนงานมาไว้ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 ได้ กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นให้สามารถใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ จัดการแสดงศิลปะ แสดงดนตรี และอื่นๆ มีพิพิธภัณฑ์เมืองที่สามารถใช้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเมือง ย่าน สถาปัตยกรรม วิถีชีวิตทั่วไป และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการสำคัญที่สุดคือ ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงาน กทม. ต้องปฏิบัติงานโดย “หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน” ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและโปร่งใส รวมถึงต้องมุ่งทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน.-สำนักข่าวไทย