ทำเนียบฯ 17 พ.ค.- ครม. เร่งรัด กฟน.เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน หลังแผนก่อสร้าง เบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าเหตุเพิ่มความลึกเพื่อหลบอุปสรรค และเจ้าของพื้นที่ส่งมอบล่าช้า
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)ปี 2564 ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร กรอบระยะเวลาตั้งแต่ปี 2527-2570 รวม8 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 55.7 กิโลเมตร และมีแผนงานค้างอยู่ระยะทาง 180.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ระยะทางรวม 25.2 กิโลเมตรอยู่ระหว่างดำเนินการ 17.2 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2567 ช้ากว่าแผนร้อยละ 5.41 ได้แก่ โครงการนนทรีระยะทาง 6.3 กิโลเมตร, โครงการพระราม 3ระยะทาง 10.9 กิโลเมตร
ส่วนแผนงานเปลี่ยนระบบไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2568 ช้ากว่าแผนร้อยละ 13.84 ดังนี้ โครงการรัชดาภิเษก-อโศก ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร, โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ระยะทาง 14.3 กิโลเมตร และแผนงานเปลี่ยนระบบไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2568 อยู่ระหว่างดำเนินการ120.2 กิโลเมตร ช้ากว่าแผนร้อยละ 2.45 ดังนี้
1.โครงการพื้นที่เมืองชั้นในรวม 12.6 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนวิทยุ 2.1 กิโลเมตร, ถนนพระราม 4 ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร , ถนนอังรีดูนังต์ 1.8 กิโลเมตร, ถนนชิดลม 0.7 กิโลเมตร, ถนนสาทร 3.6 กิโลเมตร, ถนนหลังสวน 1.3 กิโลเมตร และถนนสารสิน 0.8 กิโลเมตร
2. โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง รวม 7.4 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนเจริญราษฎร์ 3.8 กิโลเมตร ,ถนนเพชรบุรี 1 กิโลเมตร และถนนดินแดง 2.6 กิโลเมตร
3.โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นรวม 100.2 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า 87.1 กิโลเมตร และโครงการในพื้นที่ร่วมกรุงเทพมหานคร 13.1 กิโลเมตร เช่น ถนนพรานนก
ขณะที่แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตรมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2570 ช้ากว่าแผนร้อยละ 4 ได้แก่ โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ 4.4 กิโลเมตร,โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถึง ถนนติวานนท์ 10.6 กิโลเมตร และโครงการตามแนวรถไฟฟ้า สายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท81-ซอยสุขุมวิท107 ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณ กฟน.ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2564 จำนวน 4,161 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2564 เบิกจ่ายเงินได้รวม 2,276 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.71 ของแผนการเบิกจ่าย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป กฟน. ได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด แต่เนื่องจากในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง พบปัญหาอุปสรรคทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบเช่น การเพิ่มระดับความลึกของบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อหลบอุปสรรค รวมทั้งปัญหาการได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ล่าช้า ทำให้เริ่มงานก่อสร้างได้ช้ากว่าแผนงานที่กำหนด จากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด.-สำนักข่าวไทย