รร.รามา การ์เด้นส์ 15 พ.ค. – “สมคิด” เขย่า 4 เสาหลักเศรษฐกิจ ใช้บทเรียนนอกตำราฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ แนะ 6 แนวทางฟื้นเศรษฐกิจไทย ระวังปัจจัยเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครน มุ่งฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมเดินหน้าการเมืองสายกลาง ประชาชนเบื่อความขัดแย้ง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษปิดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง LFC รุ่น 12 หัวข้อ “สัมมาชีพกับประเทศไทย หัวใจการขับเคลื่อนประเทศ” ว่า สถานการณ์ปัจจุบัน หลายสิ่งได้เปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ที่ผ่านมาได้หยุดบรรยายตามเวทีต่างๆ มา 2 ปีเต็ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อรัฐบาลที่กำลังทำงานอยู่ และไม่ได้ตั้งใจแสดงวิสัยทัศน์ แต่ต้องการบอกเล่า สะท้อนแนวคิดด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงขอให้ทุกฝ่ายได้ระวัง 6 ข้อห่วงใยปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย
- โลกกำลังเผชิญความเสี่ยงและไม่แน่นอนมากขึ้น ความผันผวนหนักขึ้น ทุกปัจจัยคาดการณ์ยากมาก ทุกคนจึงต้องเตรียมตัวรับมือปัญหาโควิด-19 ที่ยังไม่ยุติสมบูรณ์ จึงยอมรับกระทบต่อเศรษฐกิจสูงมาก ทั้งการจ้างงาน ชีวิตความเป็นอยู่ ฐานะทางการคลังทุกประเทศตึงตัว ทุกประเทศจึงตัดสินใจต้องอยู่กับโควิด-19 ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี ขณะที่จีนยืนยันสู้กับโควิดอย่างเต็มที่ โดยใช้ระเบียบวินัยเพื่อสู้กับโควิด เทียบกับประเทศอื่น ดังนั้น การบริหารจัดการป้องกันโควิด ยังมีความสำคัญมาก
อีกปัจจัย สงครามยูเครน-รัสเซีย หากไม่บรรลุเป้าประสงค์ จึงไม่จบง่ายในขณะนี้ เมื่อสงครามบวกกับโควิด-19 นับว่าสร้างผลกระทบรุนแรงมาก เมื่อราคาพลังงานสูง บวกกับปัญหาเงินเฟ้อ 2 ปัจจัย กระทบเศรษฐกิจหนักมาก และกระทบต่อสังคม การเมือง เมื่อหลายประเทศเริ่มมีปัญหา รายย่อย ผู้ยากจน หากดูแลไม่ดี จะถูกนำไปใช้เป็นปัญหาทางการเมือง เช่น บราซิล ขณะที่ศรีลังกา นายกรัฐมนตรีต้องลาออก หากสงครามรัสเซียยังไม่จบ รัฐบาลอย่าประมาท ต้องคิดล่วงหน้าหนึ่งก้าว มากกว่าประชาชนทั่วไป
- การบริหารการเงิน การคลัง เมื่อสถานการณ์ไม่ปกติในปัจจุบัน มีความเสี่ยงสูง ต้องเอาใจใส่ คิดล่วงหน้ามากกว่าประชาชนทั่วไป ต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมด ใช้เงินทุกเม็ดช่วยประเทศ ให้หลุมดำที่ดูดเราอยู่ ทั้งรายย่อย ผู้เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ธนาคารต้องไม่ใช่บรรทัดฐานปกติ เพราะขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงต้องคิดนอกกรอบมาใช้ดูแล นับเป็นสิ่งท้าทาย ขณะที่ภาคการคลังที่ต้องใช้จ่ายเงินมหาศาลแก้ปัญหาขณะนี้ ไม่เช่นนั้นเอาไม่อยู่ เพื่อประคองให้ผู้บริโภคอยู่ได้ การบริหารคลังในภาวะปกติ ทำไม่ได้ในช่วงนี้ ดังนั้น คลัง ธปท. สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ 4 หน่วยเสาหลักเศรษฐกิจ ต้องกล้าเสนอการจัดทำงบประมาณในภาวะไม่ปกติ มีทิศทางชัดเจน ต้องกล้าคิด กล้าเสนอ เพราะ 4 สถาบันยิ่งใหญ่มีศักยภาพมาก จึงต้องร่วมกันทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ จากวันนี้เราต้องเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย ข้าวยากหมากแพงเริ่มเห็นชัด ไม่ขอโทษรัฐบาล ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา ยอมรับว่า ทั่วโลกเริ่มดึงการผลิตกลับประเทศ ต้นทุนสูง วัตถุดิบ เช่น อินเดียไม่ให้ส่งออกวัตถุดิบหลัก อินโดนีเซียไม่ให้ส่งออกน้ำมันปาล์ม ประเทศที่รอดได้ จึงต้องอยู่ด้วยตนเอง อย่างเช่นไทยมีศักยภาพอย่างมากในการผลิต ขณะที่แหล่งพลังงานสำคัญ หากพลังงานสูงต่อเนื่อง แต่คนเดือดร้อนคือคนจน ต้องเตรียมทรัพยากรรองรับ ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะโกรธแค้น ไม่พอใจ ทุกคนจึงต้องเตรียมตัวรองรับสถานการณ์แย่ลง ต้องบริหารจัดการที่ไม่ปกติ ต้องเข้มข้นดูแลเ
อาใจใส่ ไม่รอฟังข้าราชการ ถูกคุมเข้มด้วยกฎระเบียบ ต้องเผชิญที่จะเกิดในอนาคต - ภายในประเทศกำลังเปราะบาง ต้องปรับโหมดการขับเคลื่อน พัฒนา ขจัดอุปสรรคที่เปลี่ยนแปลงยาก สิ่งแรกต้องทำ คือ กระจายอำนาจ กระจายการคลัง กระจายงบประมาณ ไม่กระจุกตัวเพียงส่วนกลาง การกระจายอำนาจการบริหารการคลัง มีกฎเกณฑ์เป็นข้ออ้างที่ล้าสมัยต้องแก้ไข ข้อ 2 โฟกัสกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ต้องบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เชื่อมโยงเกิดกิจกรรมเศรษฐกิจภายใน ทั้งการผลิต พัฒนาชุมชนภายใน ไม่ใช่เพียงเมืองใหญ่ เพื่อให้รายได้เกิดขึ้น ต้องนำชุมชนเป็นตัวตั้ง กระทรวงมหาดไทยต้องเปลี่ยนทัศนคติ หันลงลึกถึงพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ใช่เน้นการปกครอง เพื่อร่วมฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ
- ศักยภาพการแข่งขันของไทยมีสูงมาก ไทยเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ แต่ขณะนี้กระแสรถไฟฟ้ากำลังมาแรง แต่การผลิตรถไฟฟ้าของไทยยังต้องปรับตัว ขณะที่อินโดนีเซียปรับตัวได้เร็วมาก ภายใน 5 ปี จึงต้องเน้นใช้เขตอีอีซี เร่งพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร ที่สำคัญต้องกำหนดประเทศให้มีนัยสำคัญการเมืองเวทีโลก อย่างเช่น ลี กวน ยู กล่าวย้ำว่า ประเทศไม่ใช่ว่าเล็กหรือใหญ่ อยู่ที่การกำหนดนโยบายตนเองให้มีบทบาทในเวทีโลก จึงให้เห็นว่า สิงคโปร์คือศูนย์กลางของเอเชีย จุดยืนทางการเมือง ข้อเสนอใหม่ๆ ในภูมิภาค ไทยเบาบางลง ไทยจึงหลุดจากจอเรดาร์ในการเมืองโลก ไทยจึงต้องกลับมาทบทวนบทบาทกันใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อเวทีโลก
- สภาพปัญหา ความขัดแย้ง ความแตกแยกทางความคิด ร่วมกันลดปัญหา จงใจให้ข้อมูลบิดเบือน บั่นทอนสังคม แม้กระทั่งช่องว่างระหว่างวัย คนประสบการณ์สูงวัย และคนรุ่นใหม่ จึงต้องรับฟัง ไม่ใช่การแบ่งแยก แบ่งวัย จากภาวะปัญหาเศรษฐกิจ จะนำมาสู่การแตกแยกสังคม สิ่งสำคัญคือ ความเชื่อมั่นของประเทศ ความเชื่อถือ และความเชื่อใจ หากขาดสิ่งเหล่านี้ไป จะถูกมองว่าเชื่อใจหรือเปล่า จึงต้องเร่งสร้างให้กลับคืนมา ไม่เช่นนั้นสังคมจะแตกแยก
- การทำการเมือง ขณะนี้คนเบื่อความขัดแย้ง จึงต้องการหาทางออก สภาวะผู้นำการเมือง ในยามไม่ปกติ ความชัดเจนในภาพปัญหา ทิศทางแก้ไขต้องชัดเจน ต้องนำมาสื่อออกไปให้คนทั้งประเทศเข้าใจ เพื่อปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้น ไม่ใช่ผู้นำเพียงคนเดียว แต่รวมทั้งทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งสภา และทุกองค์กร ไม่ใช่เพื่อต่อรองจัดสรรประโยชน์ ปัจจัยสำคัญสุด เมื่อภาคประชาชนเข้มแข็ง ประเทศนั้นจะเข้มแข็งมาก. – สำนักข่าวไทย