กรุงเทพฯ11 พ.ค.-รัฐบาลขับเคลื่อนแผนพัฒนาอุตฯ ปิโตรเคมี เฟส 4 ระยะ 5 ปี คาดเม็ดเงินลงทุน 4 แสนล้านบาทควบคู่แผนขับเคลื่อนพลังงานสะอาด
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ว่า เป็นโครงการ Big Rock ภายใต้การปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่กระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ในรูปแบบคณะกรรมการร่วมการพัฒนาการลงทุนฯที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานร่วมกับเลขาธิการ สกพอ. และมีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แผนดำเนินงาน 5 ปี(ปี2565-2567) มีทั้งหมด 25 โครงการประมาณการเม็ดเงินลงทุนรวม 3.9-4 แสนล้านบาทก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มอย่างน้อย 2,231 อัตราพัฒนาในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่ที่มีศักยภาพโดยจัดทำแนวทางมาตรการส่งเสริมร่วมกับเอกชนและรัฐ โดยระยะแรกการลงทุนจะเน้นพื้นที่อีอีซีขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชนิดพิเศษ และกลุ่มรีไซเคิล พลาสติกชีวภาพเพื่อตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG จากนั้นปี2567 เป็นต้นไปจะสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี Low Carbon
สำหรับ 25 โครงการประกอบด้วยประเภทการลงทุน 1. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวม 12 โครงการวงเงินลงทุนประมาณ338,364 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,661 อัตรา 2. อุตฯเกี่ยวกับการรีไซเคิลและพลาสติกชีวภาพ(RecycleและBiochimical) 3 โครงการ วงเงินลงทุน 22,500 เกิดการจ้างงาน 300 อัตรา 3. การปรับปรุงกระบวนการผลิต 5 โครงการเงินลงทุน 8,270 ล้านบาท 4. การวิจัยและพัฒนา 2 โครงการวงเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท การจ้างงาน 20 อัตรา 5. โครงสร้างพื้นฐานและUtilities 3โครงการ ลงทุน 18,500 ล้านบาท จ้างงาน 250 อัตรา
ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เดินหน้ากำหนดตามมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ทั้งตามแผนปัจจุบันและเพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ(Merit-based Incentive) ร่วมสร้างแรงจูงใจในการดึงการลงทุนจากภาคเอกชนลงทุน เช่นเดียวกับอัตราค่าเช่าของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ที่ได้มีมติขึ้นค่าเช่าเหลือ 2% ต่อปีจากเดิมที่อัตราค่าเช่าที่หมดอายุต้องปรับขึ้น 10% ทุก 3 ปี เป็นต้น
ผู้อำนวบการ.สนพ.ยังระบุด้วยว่ามติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ( กพช.)เมื่อ 6 พ.ค.ได้รับทราบแผนการ เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยมีกำลังผลิตตามสัญญาจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์4.455 เมกะวัตต์ ลม 1,500 เมกะวัตต์ก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์ ชีวมวล 485 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน400เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 200 เมกะวัตต์ซื้อไฟต่างประเทศ 2,569 เมกะวัตต์ พลังงานน้ำขนาดเล็ก 52 เมกะวัตต์
กพช.ยังเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี พ.ศ. 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินอัตรารับซื้อ 2.16 บาทต่อหน่วย(ระยะเวลา 25 ปี) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) 2.83 บาทต่อหน่วย พลังงานลม 3.10 บาทต่อหน่วย และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)2.07บาทต่อหน่วย (ระยะ20ปี) .-สำนักข่าวไทย