กรุงเทพฯ 10 พ.ค.- พาณิชย์พยายามตรึงราคาน้ำมันปาล์ม ที่ขวดละ 66.50 บาท ให้นานที่สุด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าความเดือดร้อนของผู้บริโภค กรณีราคาน้ำมันปาล์มบริโภคขึ้นมามาก มาจากราคาผลปาล์มดีมากขึ้นไปถึง 11-12 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์พยายามที่จะจับมือกับผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวดในการแก้ปัญหา และมีการกำกับราคาที่ไม่ให้สูงเกินกว่าราคาโครงสร้าง ซึ่งความจริงต้องตกประมาณขวดละ 76.50 บาท แต่พยายามกำกับราคาและปรับลดลงมาเหลือ 66.50 บาทอยู่ในขณะนี้
“ในเรื่องราคาน้ำมันปาล์มจะตรึงราคาให้ได้นานที่สุด พร้อมให้หารือร่วมกันระหว่างเกษตรกร ตัวแทนเกษตรกร ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานไม่เอารัดเอาเปรียบกัน แม้เวลานี้ โรงงานซื้อปาล์มราคาแพงขึ้นและทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ไป 60 กว่าบาท/กก. ส่งผลให้น้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้น แต่ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ตรึงราคาน้ำมันปาล์มลงมาแล้วประมาณ 10 บาทต่อขวด
การหารือ 3 ฝ่าย จะอยู่บนพื้นฐาน คือ 1.ให้ดูราคากระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด เกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ราคาดีที่สุด 2.เรื่องปริมาณไม่ให้ขาดแคลน และจะมีการหารือกันว่าปริมาณสตอกควรอยู่ที่เท่าไหร่ ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเจอเรื่องราคาแล้ว จะเจอเรื่องปริมาณเป็นปัญหาซ้ำสอง ถ้ามีความจำเป็นต้องเข้า ครม.ก็จะเข้าโดยจะทำให้เร็วและใช้ วิน-วินโมเดล เข้ามาดูแลทุกฝ่ายให้ดีที่สุด ตอนนี้หลายสินค้าที่มองว่าปรับขึ้น แต่ก็มีสินค้าหลายตัวที่ราคาลดลงกว่าปีที่แล้ว เช่น ถั่วฟักยาว ราคาเฉลี่ย 55.50 บาท/กก. แต่ปีที่แล้วเวลาเดียว 62.78 บาท/กก. ผักกาดขาวปลี กิโลกรัมละ 31.50 บาท ปีที่แล้ว 32.50 บาท/กก. ต้นหอมปัจจุบันกิโลกรัมละ 65 บาท ปีที่แล้วราคา 68.50 บาท/กก. ผักชีประมาณกิโลกรัมละ 94 บาท ปีที่แล้ว 107.80 บาท/กก. ปลา เช่น ปลาดุกเฉลี่ยกิโลกรัมละ 74.80 บาท แต่ปีที่แล้ว 85 บาท/กก.
แต่ต้องยอมรับความจริงว่าราคาสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นบางรายการ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก ซึ่งมีผลกับต้นทุนการผลิตราคาขนส่ง สินค้าที่อยู่ไกลต้องรับภาระเพิ่มขึ้น เพราะค่าขนส่งแพงขึ้น กระทรวงพาณิชย์พยายาม เน้นดูราคาหน้าโรงงานกำกับราคาไว้ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรที่ได้ราคาพืชผลเกษตรดีมาก ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยง.-สำนักข่าวไทย