กรุงเทพฯ 8 พ.ค. – ผู้ประกอบการเรือด่วนคลองแสบแสน ขอปรับค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท ส่วนรถร่วมบริการของ บขส. ยืนยันว่าสถานการณ์หนักจนขณะนี้ผู้ประกอบการ 1 ใน 4 หรือกว่า 10,000 คัน ต้องหยุดวิ่งรถแล้ว
นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) หรือลุงถั่ว ผู้ให้บริการเดินเรือคลองแสนแสบ บอกว่า ขณะนี้ ต้นทุนที่สำคัญคือราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญถึง 55% ของการเดินเรือโดยสาร ปรับราคาขึ้นมา ไม่รวมต้นทุนอื่นๆ ล่าสุดผู้ประกอบการได้แจ้งปัญหาเรื่องต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นกับกรมเจ้าท่าไปแล้ว ยืนยันว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาอีกอย่างน้อยระยะละ 1 บาท โดยกรมเจ้าท่ายืนยันว่าได้นำเรื่องการขอปรับราคารายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอยากแจ้งให้รัฐบาลทราบว่าราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็เป็นปัจจัยชั่วคราว ราคาน้ำมันที่ผ่านมาขึ้นได้ก็ปรับลดราคาได้ เช่นเดียวกับค่าโดยสารมีขึ้นและลง การปรับราคาภาครัฐต้องตัดสินใจให้เป็นราคาที่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ แต่ขณะนี้ยอมรับว่าหนักใจ เพราะภาครัฐ ไม่มีแนวทางในการจัดการปัญหาที่ชัดเจนเลย
ก่อนหน้านี้บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ได้ยื่นปรับปรับขึ้นค่าโดยสารเรือด่วน 1 บาท/คน/เที่ยว หรือปรับจากราคา 15-20 บาท/คน/เที่ยว เป็น 16-26 บาท/คน/เที่ยว โดยเรือธงส้ม ตลอดสายจะปรับจาก 15 บาท เป็น 16 บาท/คน/เที่ยว, เรือธงเหลือง ปรับจาก 20 บาท เป็น 21 บาท/คน/เที่ยว และเรือธงเขียว ปรับระยะละ 1 บาท คือ ปรับจาก 11 บาท, 20 บาท และ 32 บาท เป็น 12 บาท, 21 บาท และ 33 บาท อยู่ระหว่างรออนุมัติเวลาที่ชัดเจน
ด้านนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลกรมเจ้าท่า ยอมรับว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเรือโดยสารทุกชนิด ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา คลองแสนแสบ เรือข้ามฝาก ได้ขอปรับราคาค่าโดยสารมาหลายครั้ง จากต้นทุนราคารน้ำมันที่สูงขึ้น แต่กระทรวงคมนาคมได้ขอให้มีการตรึงราคาไปก่อน ซึ่งผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือดีทุกครั้ง แต่ล่าสุดสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับสูงไม่หยุด กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณา ยืนยันว่าต้องดูแลให้อยู่ได้ทั้งประชาชนผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการ
รถร่วมบริการ บขส. นัดถกปรับค่าโดยสาร กับขนส่ง 12 พ.ค.นี้
นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย บอกว่า ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ผู้ประกอบการรถโดยสารจะมีการประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ของคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ที่มีอำนาจปรับราคาค่าโดยสารตามกฎหมาย ขณะนี้จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูง อยากให้พิจารณาข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริง เช่น การนำตารางคำนวณค่าโดยสารมาเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2549 ขณะนั้นอัตราค่าโดยสารตามขั้นบันไดอยู่ที่ 54 สตางค์ต่อกิโลเมตร แต่ปัจจุบั ราคาค่าโดยสารยังอยู่ที่ 53 สตางค์ต่อกิโลเมตร ลดลงด้วยซ้ำ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ประกอบการรถโดยสารจึงอยู่ไม่ได้ ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯ มีประมาณ 40,000 คันทั่วประเทศ แต่หากสถานการณ์ต้นทุนพลังงานเป็นเช่นนี้จะมีผู้ประกอบการเจ๊ง ต้องจอดรถกว่า 10,000 คัน หรือ 1 ใน 4 เพราะหากรถอยู่ในระบบก็จะมีต้นทุนมากมาย รวมทั้งค่าประกันภัย
แม้ว่ารถจะจอดรอวิ่งก็ต้องจ่าย
ทั้งนี้ ในส่วนของการปรับค่าโดยสาร ผู้ประกอบการไม่อยากไปกำหนดว่าต้องปรับขึ้นราคาเท่าไร แต่ขอให้รัฐบาลเห็นใจช่วยเหลือ โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการวิ่งรถไม่ได้ จากต้นทุนนี้ ผู้ประกอบการคงไม่ยอมให้ภาครัฐปรับเงินค่าขา หรือค่าเที่ยววิ่งขั้นต่ำตามสัญญาอีก
มาตรการช่วยค่าน้ำมันวินมอเตอร์ไซค์มีผลแล้ววันนี้
ส่วนมาตรการช่วยค่าน้ำมันวินมอเตอร์ไซค์ 250 บาทต่อเดือน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า มาตรการที่เริ่มใช้สิทธิวันนี้คือ “โครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ” เป็นการให้ส่วนลดราคาน้ำมันแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะจากกรมการขนส่งทางบก จำนวน 106,655 ราย โดยได้รับสิทธิช่วยเหลือค่าน้ำมันไม่เกิน 50 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน รวม 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 2565 เพื่อจะได้ไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารกระทบประชาชน
โดยผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เข้าเกณฑ์สามารถกดยืนยันสิทธิที่แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แบนเนอร์ “สิทธิวินเซฟ” และสถานีบริการน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการสามารถกดยืนยันสิทธิที่แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันนี้ ณ สถานีบริการน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการ กว่า 1,000 แห่ง.-สำนักข่าวไทย