กรุงเทพฯ 5 พ.ค.-ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยระบุผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยนักลงทุนคาดหวังท่องเที่ยวฟื้นตัว และ เงินทุนไหลเข้า ช่วยหนุนความเชื่อมั่น ขณะที่ปัจจัยฉุดคือความกังวลต่อสถานการณ์ รัสเซีย-ยูเครน และนโยบายดอกเบี้ย FED และส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลังค้านเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นใน ตลท.เช้านี้
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนเมษายน 2565 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.42 ปรับตัวลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยนักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รองลงมาคือนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax)
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนซึ่งสำรวจในเดือนเมษายน 2565 ได้ผลสำรวจ ดังนี้ คือ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2565) อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 95.42 ความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับทรงตัว ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ อยู่ในระดับซบเซา โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยว ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งใน รัสเซีย-ยูเครน
ทั้งนี้ ผลสำรวจ เดือนเมษายน 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 13.1% อยู่ที่ระดับ 98.36 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 25.0% อยู่ที่ระดับ 75.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 15.0% อยู่ที่ระดับ 85.00 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 25.0% มาอยู่ที่ระดับ 100.00
ในเดือนเมษายน 2565 SET Index ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงตลอดทั้งเดือน จากความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ลงมาอยู่ที่ 3.5% จากเดิม 4%
ส่วนตลาดทุนไทยยังได้รับข่าวดีจากการที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ และเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องซึ่งซื้อสุทธิในเดือนเมษายน 9,779.91 ล้านบาท และซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 118,120.26 ล้านบาท ส่งผลให้ SET index ปิดที่ 1,667.44 จุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 ปรับตัวลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า แต่คงติดติดตามกรณีเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นย่อมกระทบแรงกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 2-3 เดือนนี้ รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกก็สูงขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ผลกระทบจากสถานการณ์ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย—ยูเครน ที่ก่อให้เกิดวิกฤติพลังงานและอาหาร และซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อสูงในปัจจุบันซึ่งทำให้ความกังวลต่อการเกิดภาวะ Stagflation สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น อาทิ FED มีส่งสัญญาณจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมีแนวโน้มจะเริ่มนโยบาบ Quantitative Tightening ในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ และต้องติดตามสถานการณ์ lockdown ในประเทศจีนจากการที่ Covid-19 กลับมาระบาดในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง แต่ยังมีปัจจัยบวกที่น่าติดตามจากแนวโน้มการเปิดประเทศในแถบเอเชียถือเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการท่องเที่ยวในประเทศหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ
ทั้งนี้ ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมีความกังวลใจและไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวความคิดที่จะเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเห็นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของนักลงทุนอย่างมากได้ ดังนั้น ทางสภาฯจึงได้ส่งหนังสือเปิดผนึกและได้ส่งเป็นจดหมายทางอีเมล์ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (5 พ.ค.) และได้แจงเหตุผลในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวมีอยู่ 5 ข้อด้วยกัน.-สำนักข่าวไทย