กรุงเทพฯ 3 พ.ค.-สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ประเมินการส่งออกไตรมาส 2 ปีนี้ ขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-5.0 แต่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่อง ขณะที่ทั้งปีคาดว่าการส่งออกจะเติบโตร้อยละ 5 เสนอรัฐหาช่องทางขยายตลาดส่งออก ดูแลเงินเฟ้อ
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงว่า สรท.คาดการณ์การส่งออกไทยในไตรมาสที่สองของปี 2565 เติบโตร้อยละ 3.5 – 5 โดยยังคงคาดการณ์รวมปี 2565 ทั้งปี ขยายตัวที่ร้อยละ 5 (ณ เดือนพฤษภาคม 2565) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญได้แก่ 1) สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย 2) ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง 3) ค่าระวางปรับลงเล็กน้อยแต่ยังทรงตัวในระดับสูง ในเส้นทางยุโรป 4) แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับอาจมีแนวโน้มต้นทุนการจ้างงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 5) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, แร่ธรรมชาติ, สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นต้นและขั้นกลาง 6) สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 หลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะได้แก่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก พร้อมทั้งบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ปรับตัวสูงเกินกว่าร้อยละ 5 ภาครัฐต้องพิจารณาควบคุมหรือปรับลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนในการดำรงชีวิต เช่น ค่าเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าพลังงาน รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป เร่งมองหาช่องทางขยายตลาดเพิ่มเติมทั้งกลุ่มตลาดศักยภาพระดับรองที่อาจเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่สามารถทดแทนกลุ่มสินค้าที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซียและยูเครน เร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าเพื่อยกระดับ/กระตุ้นให้เกิด Trade activity ในลักษณะ Exhibition / Business matching ระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงเร่งผลักดันการค้าเข้าสู่ตลาด RCEP ให้มากที่สุด เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – มีนาคมของปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 73,601.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.9 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,401,444 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.1 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – มีนาคมขยายตัวร้อยละ 8.7 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 74,545.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.4 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,466,654 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 29.9 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – มีนาคมของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 944 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 65,210 ล้านบาท -สำนักข่าวไทย