กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – ก้าวสู่ปีที่ 54 กฟผ. ปรับตัว เพิ่มการพึ่งพาทรัพยากรในประเทศรับมือวิกฤตพลังงาน เร่งแผนนำเข้า LNG ด้าน ปตท.สผ.โบกมือลา “เยตากุน” เร่งหาแหล่งอื่นป้อนไทย
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อน กฟผ. เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา กฟผ. ก้าวสู่ปีที่ 54 ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ว่า ท่ามกลางวิกฤตพลังงานและทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ กฟผ. เร่งเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด) เริ่มจากเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี
ตั้งเป้าเร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดให้ครบ 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP2018 Rev.1 ภายใน 5-10 ปี โดยในปี 2565 อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2566 รวมถึงยังมีแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดพร้อมติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ในโครงการเขื่อนคู่เฉลิมพระเกียรติฉลองพระชนมายุครบ 6 รอบ ในเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,100 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งในปี 2565 ตั้งเป้าขยายผลนำระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นจนมีความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงไปติดตั้งภายในศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าตามเขตปฏิบัติการต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 11 แห่ง ส่วนโครงการติดตั้ง BESS ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี และการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัลนำร่องจำนวน 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงตราด จ.ตราด คาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้เช่นกัน
ในยุคสมัยใหม่ กฟผ. ยังเร่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) เช่น ธุรกิจ EGAT EV Business, ธุรกิจจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เร่งจัดหาและนำเข้า LNG แบบตลาดจร เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยในช่วงวิกฤตพลังงานสามารถแบ่งเบาภาระประชาชนประมาณ 500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าร่วมทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งที่ 2 ที่ ต.หนองแฟบ จ.ระยอง กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติในประเทศ สนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565, บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ลุยธุรกิจนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคต (New S-curve) เช่น เทคโนโลยีการทำตลาดซื้อขายไฟฟ้า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทได้แจ้งต่อผู้ร่วมทุนในโครงการเยตากุน เพื่อขอถอนการลงทุนในโครงการ รวมทั้ง ยุติการลงทุนในบริษัท ทะนินทะยี ไพพ์ไลน์ จำกัด (Taninthayi Pipeline Company LLC หรือ TPC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุนมายังประเทศไทย โดยสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดร้อยละ 19.31 ของ ปตท.สผ. ในโครงการเยตากุน จะถูกถ่ายโอนให้กับผู้ร่วมทุนที่เหลืออยู่ในโครงการโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อได้รับอนุมัติจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป
การยุติการลงทุนดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารจัดการโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เพื่อมุ่งเน้นโครงการที่มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
โครงการเยตากุน ตั้งอยู่นอกชายฝั่งอ่าวเมาะตะมะ โดยในปี 2564 โครงการเยตากุนมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยประมาณ 17 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทประมาณ 560 บาร์เรลต่อวัน.-สำนักข่าวไทย