กรุงเทพฯ 28 เม.ย.- กรมทรัพยากรธรณี ยืนยันพบฟอสซิล “แอมโมไนต์” ที่พื้นหินขัดที่ทำเป็นทางเดินห้างดังย่านสยามสแควร์
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า มอบหมายให้นายอดุลวิทย์ กาวีระ นักธรณีวิทยาปฏิบัติการ กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์นำเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ฟอสซิล “แอมโมไนต์” ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลกลุ่มหอยงวงช้างในทะเลดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว สืบเนื่องจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพพร้อมระบุว่า พบฟอสซิล “แอมโมไนต์” ประดับบนพื้นกลางห้าง ต่อมาผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟอสซิลสันนิษฐานว่า เป็นของแท้ซึ่งมาจากแหล่งหินในทวีปอัฟริกา (มาดากัสการ์) ที่มีจำนวนมาก สามารถซื้อขายได้ทั่วโลก ราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นบาทตามขนาดตัว
สำหรับผลการตรวจสอบโดยนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า
- เป็นฟอสซิล “แอมโมไนต์” จริง แต่พื้นหินขัดทำขึ้นมาภายหลังซึ่งไม่ใช่หินจริงเพราะเนื้อหินไม่ได้เกิดจากการสะสมตัวตามธรรมชาติ
- พบฟอสซิล 77 ชิ้นตลอดสองฝั่งถนนซอยสยามสแควร์ กระจายตัวทางเดินเท้า ระยะทางประมาณ 400 เมตร โดยพบฝั่งซ้าย 28 ชิ้นและฝั่งขวา 49 ชิ้น
- ฟอสซิลมีขนาดตั้งแต่ 2-12 เซนติเมตร ลักษณะเป็นการผ่าตัว “แอมโมไนต์” ส่วนใหญ่พบอยู่ตามหน้าร้านค้า ทางแยก และหน้าบันได
- “แอมโมไนต์” ที่พบมีลักษณะหลากหลาย คาดว่า มาจากแหล่งหลายประเทศ แต่แหล่งที่โด่งดังในโลกคือ“มาดากัสการ์” ซึ่งเป็นแหล่งที่พบเยอะและจำหน่ายส่งออกเป็นจำนวนมากในเว็บไซต์ขายของออนไลน์
- ฟอสซิลมาจากผู้รับเหมาซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้จ้างให้ดำเนินการเมื่อปี 2563 โดยทางผู้รับเหมานำมาตกแต่งเองและไม่ทราบที่มาของฟอสซิลเนื่องจากผู้รับเหมารายย่อยหลายราย
ทั้งนี้ ฟอสซิลที่พบไม่ใช่ฟอสซิลซึ่งถูกค้นพบในประเทศไทยจึงไม่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 โดยการนำเข้า-ส่งออก และการค้าขายซากดึกดำบรรพ์ สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551
สำหรับ แอมโมไนต์ (Ammonite) เป็นสัตว์ประเภทเซฟาโลพอด (Cephalopod) ซึ่งมีหอยงวงช้างและกลุ่มหมึกเป็นญาติใกล้ชิดที่พบอยู่ในปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ มีหลายชนิดและพบได้ทั่วไปในทะเลดึกดำบรรพ์ แล้วสูญพันธุ์ไปพร้อมกับไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีก่อนช่วงสิ้นสุดยุคครีเทเชียส แอมโมไนต์ มีขนาดตั้งแต่ 2 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร พบได้หลายที่บนโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย.-สำนักข่าวไทย