กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – “ชัชชาติ” ชูนโยบายพัฒนาทางเท้าทั่วกรุง ตั้งเป้ามีทางเท้าคุณภาพ “เดินได้ คงทนปลอดภัย มีร่มเงา” ขั้นต่ำ 1,000 กม. ยกระดับระบบเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (ฟีดเดอร์) สังคายนากล้องทีวีวงจรปิด ใช้ได้ทุกพื้นที่
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงย่านลาดพร้าว ที่ตลาดสะพาน 2 และตลาดโชคชัย 4 พร้อมสำรวจทางเท้าโดยรอบริมถนนลาดพร้าว ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เบื้องต้นพบปัญหาผิวทางเท้าขรุขระ แผ่นกระเบื้องชำรุด มีสิ่งปลูกสร้าง-ป้ายจราจรกีดขวาง คนแก่-คนพิการใช้งานไม่สะดวก สายไฟ สายระบบสื่อสาร ไม่เป็นระเบียบ ทางม้าลายไม่ปลอดภัย และปัญหาความสะอาด
นายชัชชาติ กล่าวว่า พร้อมชูนโยบาย “เดินทางดี” พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กิโลเมตร ที่ได้รับการดูแลคุณภาพ มาตรฐานการก่อสร้างและความร่มรื่น เพื่อให้ทางเท้าเป็นปัจจัยส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของทุกคน โดยปัญหา ทางเท้านี้ เป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ จากข้อมูลทีม “เพื่อนชัชชาติ” ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 พบการร้องเรียนเรื่องทางเท้ากว่า 150 จุด ดังนั้นจึงมีนโยบายกรุงเทพฯ เดินได้พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กิโลเมตร
“เป้าหมาย 1,000 กิโลเมตร ถือว่าไม่เยอะและดำเนินการได้จริง ถ้าหากเฉลี่ยรายเขต 50 เขต แต่ละเขตจะพัฒนาขั้นต่ำเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องเลือกให้ความสำคัญจากทางเท้าที่มีการใช้งานหนาแน่นและได้รับการร้องเรียนบ่อยครั้งเป็นลำดับแรก และพัฒนาให้สอดคล้องกับแต่ละบริบทและการใช้งานของแต่ละพื้นที่”นายชัชชาติกล่าว
ทั้งนี้ ทางเท้าที่มีคุณภาพต้องออกแบบให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ ผ่านมาตรฐานการก่อสร้างที่แข็งแรงคงทน ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมไม่นาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ กทม. ต้องกำหนดแผนการพัฒนาแทางเท้าให้ชัดเจน จัดสรร งบประมาณเข้ามาดำเนินการ พร้อมรายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้บนถนนลาดพร้าวซึ่งมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งระบบรถไฟฟ้านั้นจะเป็นระบบคมนาคมขนส่งหลักของเมือง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีระบบเดินทางต่อเชื่อม หรือ ฟีดเดอร์ ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก ตัวอย่าง เช่น บนถนนลาดพร้าวนี้ ช่วงที่มีเส้นทาง ตัดผ่าน ทางด่วนเอกมัย- รามอินทรา มีทางเรียบทางด่วน ซึ่งได้พัฒนาเลนจักรยานไว้ ก็ต้องนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเดินทางมาเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าในอนาคต
ส่วนคำถามเรื่องของผลโพลสำรวจ ที่ระบุว่า สิ่งที่ชาวกทม. เจ็บปวดมากกับปัญหาในอดีตมากปัญหาหนึ่ง คือกรณีกล้องทีวีวงจรปิด หรือ CCTV ที่มีการติดตั้งทั่วกรุง แต่ปรากฏว่าเสียและชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เมื่อเกิดเหตุทั้งอาชญากรรม และอุบัติเหตุขึ้น ก็ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูล ใช้เป็นหลักฐานได้ นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับกล้อง CCTV จะต้องมีการสังคายนาทั้งหมด ต้องนำมาพิจารณาว่า กล้องในปัจจุบันมีทั้งหมดกี่ตัว และใช้งานได้จริงหรือเสียหาย ชำรุดเท่าไหร่ เพื่อมาดำเนินการปรับปรุง ทั้งนี้ปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับกล้องวงจรปิดก้าวหน้าไปมาก ต้องนำมาใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพ ไม่ใช่แค่นำมาใช้ เป็นหลักฐานหลังเกิดเหตุเท่านั้น แต่สามารถนำข้อมูลจากพื้นที่ และจากกล้องต่างๆ มาวางแผนป้องปรามเหตุได้ แบบนี้จึงถือว่านำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด.-สำนักข่าวไทย