กรุงเทพฯ 22 เม.ย.- คลังเตือนภัยทางการเงิน 5 ด้าน ผ่านออนไลน์ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่ รับจ้างเปิดบัญชีม้า นำไปใช้ทำธุรกรรมทุจริต ยอมรับคนยุคใหม่อายุน้อยเริ่มสร้างหนี้
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงการคลังกับนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน จึงต้องการเตือนให้ทุกคน รู้เท่าทันภัยทางการเงิน สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. กลโกงทางโทรศัพท์ในรูปแบบแก๊งคอลเซนเตอร์ 2. การหลอกลวงผ่านโลกออนไลน์ 3.การหลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ 4.เงินกู้นอกระบบ และ 5.การรับจ้างเปิดบัญชี
กระทรวงคลัง จึงต้องการให้ทุกคน รับมือกับภัยทางการเงินดังกล่าว ได้แก่ การเช็คตัวตนและหน่วยงานโดยถามถึงหลักฐาน การปรึกษาหาคำแนะนำจากหน่วยงาน หรือสถาบันการเงิน และหากมีการโอนเงินไปแล้วให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อขอระงับธุรกรรม และระวังการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการรับจ้างเปิดบัญชีปลอม (บัญชีม้า) นับว่า มิจฉาชีพหลอกลวงให้ผู้เสียหายเปิดบัญชีในนามของตน แล้วนำบัญชีดังกล่าวไปทำธุรกรรมทุจริต ผู้เสียหายอาจต้องโทษกระทำความผิดฐานฟอกเงินได้ ที่สำคัญ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอเรนซีในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้เป็นเงินชำระหนี้ตามกฎหมาย
สำหรับการ ดูแลข้อมูลเครดิตในประเทศไทย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มุ่งทำความเข้าใจพื้นฐานและข้อมูลที่ใช้พิจารณาการกู้เงิน ตลอดจนตอบคำถามเกี่ยวกับเครดิตบูโรที่พบได้บ่อย เช่น เครดิตบูโรเก็บข้อมูลตามจริงที่สถาบันการเงินส่งให้โดยไม่มีหน้าที่ขึ้นแบล็คลิสต์ เป็นต้น ยอมรับว่า ฐานข้อมูลเครดิตในปัจจุบัน ประชาชนมีภาระหนี้กว่า 30 ล้านคน ผู้มีภาระหนี้ 16 ราย ใน 100 รายไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือมีปัญหาหนี้ร้อยละ 16 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุน้อย ความสามารถชำระหนี้ จากสัดส่วนภาระหนี้ทั้งหมดต่อเดือนต่อรายได้ สัดส่วนเหมาะสมควรเป็นร้อยละ 40-70 และหากมากกว่าร้อยละ 70 ควรนำเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
สำหรับเวทีสัมมนา “คุ้มครองการเงินไทยในยุค Next Normal” แนะให้รู้เท่าทันหนี้ การสร้างหนี้อย่างไรให้ถูกวิธี หนี้ที่อาจก่อให้เกิดปัญหา การคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยจากการสร้างหนี้ และมีการอธิบายเรื่องการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมแบบใหม่ ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ของ ธปท. และขั้นตอนในการปลดหนี้ เช่น การสรุปหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด การวางแผนการชำระคืนหนี้ การหาที่ปรึกษา และการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เน้นให้ไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ เพราะการบริหารหนี้ผ่านกระบวนการยุติธรรมต้องเสียเวลา และหากต้องไปขึ้นศาลควรไปตามที่ศาลนัดทุกครั้ง เพื่อให้ศาลไม่ต้องตามสืบทรัพย์เพื่อทำการยึดทรัพย์ .-สำนักข่าวไทย