กรุงเทพฯ 22 เม.ย.-อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยราคาสุกรปรับขึ้น สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศสูงขึ้น รวมถึงกลไกตลาด ย้ำชัดไม่เกี่ยวกับโรค ASF ซึ่งสามารถควบคุมได้ในวงจำกัด เร่งส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้กลับมาเลี้ยง
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ราคาสุกรปรับสูงขึ้น โดยล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 16 เมษายน 2565 ว่า ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 94-98 บาท โดยต้นทุนการผลิตไตรมาส 2/2565 จากการคำนวณโดยคณะอนุกรรมการต้นทุนของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) อยู่ที่ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มดังกล่าวปรับขึ้นจากช่วงก่อนสงกรานต์เมื่อวันพระที่ 9 เมษายน 2565 ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 92-96 บาท โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า ผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคทยอยขยับราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มเพื่อหนีสภาวะขาดทุนซึ่งสาเหตุหลักมาจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากทวีปยุโรปซึ่งกำลังประสบปัญหาสภาวะสงครามในประเทศยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารและน้ำมันที่สำคัญของโลกรวมทั้งประเทศไทย อีกทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในการทำระบบการป้องกันโรคระบาดในฟาร์ม การพักคอกและการปรับปรุงเพื่อเตรียมความพร้อมระบบการเลี้ยงก่อนการนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรรายเล็ก รายย่อยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนปริมาณเนื้อสุกรในตลาด ประกอบกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว รวมถึงปัจจัยด้านสภาพอากาศร้อนอาจทำให้สุกรเติบโตช้า ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มคลี่คลายจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลังและทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับราคาลดลง
ทั้งนี้ยืนยันว่า ราคาสุกรที่ปรับขึ้นไม่เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยนับแต่พบการระบาดของโรค ASF ครั้งแรกในประเทศไทยในวันที่ 10 มกราคม 2565 กรมปศุสัตว์ควบคุมอย่างเข้มงวดต่อเนื่องในทุกพื้นที่ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายตามลำดับ จนปัจจุบันสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว กรมปศุสัตว์ได้วางแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก โดยกำหนดแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกร มีหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตรวจประเมินระบบการป้องกันโรคของฟาร์มสุกรและยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ
นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้ตรวจสอบสต๊อกเนื้อสุกรในห้องเย็นทั่วประเทศเป็นรอบที่ 2 ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ห่วงใยและให้ความสำคัญในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า.-สำนักข่าวไทย