กรุงเทพฯ 21เม.ย.-บล.โนมูระ พัฒนสิน วิเคราะห์ช่วงเงินเยนอ่อน SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.88% หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากกำลังซื้อต่างประเทศสูงขึ้นได้ประโยชน์ ด้านกรุงไทยแนะนักท่องเที่ยวทยอยตุนเงินเยน
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสินกล่าวว่าจากค่าเงินเยนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงรวดเร็วถึงราว 5.4% ภายใน 1 เดือน มาอยู่ที่ 128.28 เยนต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยเป็นการถ่วงน้ำหนักระหว่างความจำเป็นการกระตุ้นฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการบริหารเสถียรภาพเศรษฐกิจ ผลจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากผลกระทบทางอ้อมปัญหารัสเซีย – ยูเครน
สำหรับประเทศหลักที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากช่วง COVID ระบาดได้รวดเร็ว เช่น สหรัฐฯ จะเห็นการให้แนวทางที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัว นำมาสู่คาดการณ์ NOMURA ในปัจจุบันถึงคาดการณ์อัตรา แนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีไปอยู่ที่ 2.75% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ราว 0.5% ขณะที่ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ ขยับขึ้นไปสูงราว 2.8-2.9%
ทิศทางดังกล่าวต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ -0.1% ทำให้ Bond Yield 10 ปีของญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนราว 0.24% ต่ำกว่าฝั่งสหรัฐฯ มาก จึงเห็นความต้องการขายเงินเยน แลกเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ (Yen Carry Trade)
ขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย 3 ประเทศ ที่เป็นกลุ่มต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และไทย ผลจากเผชิญปัญหา COVID ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว หรือฟื้นตัวช้ากว่าโลก ทำให้ว่า มีโอกาสที่จะเห็นค่าเงิน 3 ประเทศนี้อ่อนค่าในทิศทางคล้ายคลึงกัน โดยปัจจุบัน Bond Yield 10 ปี ของไทยให้ผลตอบแทนอยู่ที่ราว 2.56% แต่เชื่อว่าระดับอ่อนค่าจะมากน้อยยังขึ้นกับแผนเปิดประเทศของรัฐฯที่จะพิจารณา 22 เม.ย. นี้ และความสำเร็จของการฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วยอีกทางหนึ่ง
จากการศึกษาของทีมกลยุทธ์ โดยใช้ 2 เกณฑ์พิจารณาว่า เกิดภาวะดังกล่าวในอดีต คือ ค่าเงินดอลลาร์ต่อเยน และ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและญี่ปุ่น ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะ Yen Carry Trade พบว่า เหตุการณ์คล้ายกันเคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2004-05 และปี 2014-15 เมื่อมีสัญญาณล่วงหน้าที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ประเทศจะถ่างกว้างขึ้น ค่าเงินจะอ่อนค่าล่วงหน้าก่อน และหากใช้ช่วงเวลาเดียวกัน โดยเปลี่ยนเป็นคู่ประเทศระหว่าง สหรัฐฯ และไทย จะพบว่า ทิศทางค่าเงินบาทค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกับเยนเช่นเดียวกัน คือ ค่าเงินจะอ่อนค่าล่วงหน้าก่อนที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่าง 2 ประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
จากการศึกษาช่วงเวลาที่เงินเยนอ่อนค่าแรง พบว่า 2 ช่วงเวลาดังกล่าว SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.88%กลุ่มที่ Outperform คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากกำลังซื้อต่างประเทศสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่ม โรงพยาบาล (+35.94%), กลุ่มชิ้นส่วนฯ (+21.54%), กลุ่มอาหาร (+11.22%), กลุ่มท่องเที่ยว (+8.91%) และกลุ่มค้าปลีก (+6.77%) ทั้งนี้ คาดว่าอีกส่วนหนึ่งน่าจะได้ผลประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าในช่วงดังกล่าวเช่นกัน
ขณะที่กลุ่มที่ Underperform คือ กลุ่มที่มีหุ้นที่มีรายได้เป็นเงินเยน (MCS) โดยช่วงดังกล่าว กลุ่มเหล็ก (-27.46%) รวมถึงกลุ่มที่ได้รับจิตวิทยาลบ อาทิ นิคมฯ กลุ่มอสังหาฯ (-7.83%),กลุ่มยานยนต์ (-18.18%)
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า แม้ว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้าง แต่เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จะเห็นได้ว่า เงินบาทกลับปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้จังหวะนี้ในการทยอยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมุมมองของตลาดยังคงมองว่า เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 118-120 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี ซึ่งแม้ว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยรวม เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาทก็อาจจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับผู้ที่วางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็สามารถทยอยแลกเงินได้ และอาจพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เน้นหุ้นขนาดเล็ก-กลาง ที่จะได้รับอานิสงส์จากธีม Reopening & Recovery ได้เช่นกัน
สำหรับเงินบาทเปิดเช้านี้ ยังอ่อนค่าที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์.-สำนักข่าวไทย