กระทรวงการคลัง 19 เม.ย.- สบน. ยืนยันระดับหนี้สาธารณะยังไม่เสี่ยงล้มละลาย เดินหน้าจัดแผนบริหารหนี้ 5 ปี รองรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 840,000 ล้านบาท ความสามารถชำระหนี้ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบณ.) ชี้แจง กรณีมีข่าว ความเห็นเกี่ยวกับระดับหนี้สาธารณะของประเทศ จากการกู้เงินของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงล้มละลายนั้น เมื่อไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องลงทุนผ่านส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ด้วยการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในช่วงปี2558-2564 รัฐบาลมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 178 โครงการ วงเงินกว่า 2.6 ล้านล้านบาทครอบคลุมทุกสาขาทั้งด้านคมนาคม สาธารณูปการ พลังงาน สังคม และการพัฒนาพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
เมื่อรัฐบาลมีแผน ลงทุนอย่างต่อเนื่อง สบน. จึงจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ(แผนฯ) ระยะปานกลาง ในช่วง 5 ปี (ปี 2565-2569) รองรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในอนาคต วงเงินประมาณ 840,000 ล้านบาท ในแต่ละปี สบน. จัดทำแผนก่อหนี้ใหม่เพื่อการลงทุนและบริหารสภาพคล่อง การบริหารหนี้คงค้างเดิมเพื่อบริหารความเสี่ยงและการชำระหนี้ขาดดุลจากงบประมาณ การลดความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณา แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี
ในการกู้เงินแต่ละครั้ง สบน. ได้พิจารณาต้นทุนการระดมทุน วงเงินกู้ โดยใช้เครื่องมือการกู้เงินหลากหลาย หลีกเลี่ยงการแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชน (Crowding Out Effect) ในประเทศ ที่ผ่านมา สบน. กู้เงินในประเทศเป็นหลักประมาณร้อยละ 98 จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแต่ละปีต่ำ ภาระหนี้มากกว่าร้อยละ 83 เป็นหนี้มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยเหมาะสมร้อยละ 2.35 สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยตลาดโลก
ยืนยันว่า ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบัน ยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลัง เพราะรัฐบาลยังมีความสามารถชำระหนี้(Debt affordability) สบน. ได้ติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อ รายได้ประจำปีของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด สัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อรายได้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 คาดว่า มีสัดส่วนร้อยละ 8 และในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงต่ำกว่าระดับเกณฑ์มาตรฐานสากลไม่เกินร้อยละ 10 ของการชำระหนี้ในแต่ละปี กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้รับจัดสรรงบชำระหนี้ ต้นเงินกู้และดอกเบี้ยครบกำหนด ร้อยละ 2.5-4.0 ของงบประมาณประจำปี โดย สบน. ไม่ได้นำเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ นำมาชำระหนี้แต่อย่างใด
ขณะที่ Moody’s บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เพราะตัวชี้วัดภาคการคลังและหนี้สาธารณะยังคงแข็งแกร่ง คาดว่า ช่วง 2-3 ปีข้างหน้า รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ สบน. มองว่าระดับความน่าเชื่อถือของไทยอยู่ใน ระดับ Investment Grade นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเชื่อมั่น การชำระหนี้ของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองด้านความมีเสถียรภาพและความโปร่งใสของฐานะการเงินการคลังของประเทศ และไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย