กรุงเทพฯ 19 เม.ย.- อธิบดีกรมชลประทานระบุ กำลังเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมชลประทานตามมาตราการ13 มาตรการรับฤดูฝนปี 2565 ของ กอนช. จึงได้วิเคราะห์ ตรวจสอบ และประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพื่อป้องกันและลดผลกระทบก่อนเกิดอุทกภัยให้แก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด โดยปีนี้มี 3 มาตรการที่เพิ่มจากฤดูฝนปี 2564
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าววทากรมชลประทานเข้าร่วมประชุมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อรับทราบแนวทางการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อขับเคลื่อน 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 หลังจากที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว
สำหรับรายละเอียดของการขับเคลื่อน 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ซึ่งกรมชลประทานกำลังดำเนินการมีดังนี้
1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติซึ่งได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและจะติดตั้งธงสัญลักษณ์เตือนภัยน้ำท่วม พร้อมจัดทำเผชิญเหตุเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขและป้องกันอุทกภัยแล้ว
2. การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลากโดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำและแก้มลิงตัดยอดน้ำ
3. ทบทวนปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำต่างๆ โดยกำหนดเป็น5 กรณีคือ กรณีปี 2552 (กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ฝนปี 2565 คล้ายปี 2552) กรณีปีน้ำมาก กรณีปีน้ำน้อย กรณีฝนตามค่าเฉลี่ย และกรณีฝนเหมือนปี 2564 โดยบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (Dynamic Rule Curve)
4. ซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารชลศาสตร์-ระบบระบายน้ำและสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน ทั้งอาคารชลประทาน สถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) อ่างเก็บน้ำ ฝาย เขื่อนระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร
5. ปรับปรุง-แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยกรมชลประทานร่วมกับกทม. กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น
6. ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวาให้ได้ตามแผนกำจัดวัชพืชปี 2565
7. เตรียมพร้อม-วางแผนนำเครื่องจักรเครื่องมือประจำทั้งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ
8. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำทั้งก่อนและตลอดฤดูฝน โดยจัดรอบเวรการส่งน้ำ สร้างการรับรู้ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า
9. ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ
10. จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จในเดือนพ.ค.
11. ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยตลอดฤดูฝน
12. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ในจุดเสี่ยง ตลอดจนการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับทราบ
13. ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยตลอดฤดูฝน
นายประพิศกล่าวต่อว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำได้นำมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 มาถอดบทเรียน แล้วเพิ่มอีก 3 มาตรการในปี 2565 คือ
– ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำซึ่งกรมชลประทานได้เสริมทั้งความแข็งแรงและความสูงเพื่อให้สามารถรองรับประมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นได้
– จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ
– ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยเพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและบรรเทาผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย