ตรัง 1 เม.ย.- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสำรวจการแพร่กระจายของสัตว์ทะเลหายากในทะเลจังหวัดตรังชุมพร และนครศรีธรรมราชพบทั้งพะยูน วาฬบรูด้า วาฬหลังโหนก โลมาอิรวดี และเต่าทะเล สำหรับพะยูนและวาฬหลังโหนกพบคู่แม่-ลูกซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่างร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตกออกสำรวจการแพร่กระจายของสัตว์ทะเลหายากในทะเลตรัง โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) ด้วยเครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และวิธีการสำรวจทางเรือโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV-drone) บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์และหมู่เกาะใกล้เคียง ผลจากการสำรวจโดยประมาณในเบื้องต้นพบพะยูน 140-170 ตัว โดยเป็นพะยูนคู่แม่-ลูก 15-20 คู่ โลมาหลังโหนก 27 ตัว และเต่าทะเล 141 ตัว
จากการตรวจสุขภาพและประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตาพบว่า พะยูนแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเลและการผสมพันธุ์ นอกจากนี้การพบพะยูนคู่แม่-ลูกยังแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ ส่วนการตรวจสุขภาพโลมาหลังโหนกและเต่าทะเลไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติ ทั้งนี้จะนำข้อมูลจากการสำรวจใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณทะเลตรังต่อไป
สำหรับการสำรวจสัตว์ทะเลหายากพื้นที่ทะเลจังหวัดชุมพรและนครศรีธรรมราช ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางพบสัตว์ทะเลหายาก 3 ชนิดได้แก่
– วาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni) 2 ตัว พบบริเวณชายฝั่งอำเภอปะทิว ห่างจากฝั่งประมาณ 15 กม. จากภาพถ่ายยืนยันได้ว่า 1 ในวาฬ 2 ตัวที่พบเป็น “เจ้าบางแสน” วาฬบรูด้าที่แสดงพฤติกรรมว่ายน้ำเดินทาง จากการตรวจสุขภาพพบว่า มีร่างกายสมบูรณ์ (BCS 3/5) มีโรคผิวหนัง (Tatto skin disease) ทั่วตัว คุณภาพการหายใจปกติอัตราการหายใจ 1-2 ครั้ง ต่อ 5 นาที
– โลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) 23 ตัว พบบริเวณแนวชายฝั่งอำเภอหัวไทรและอ่าวปากพนัง ในจำนวนนี้พบเป็นโลมาคู่แม่-ลูก 5 คู่ แสดงพฤติกรรมว่ายน้ำเดินทางและพฤติกรรมทางสังคมด้วยการเล่นหยอกล้อ ขณะที่ลูกว่ายน้ำใกล้ตัวแม่ จากการตรวจสุขภาพพบว่า มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ (body condition score 2.5-3/5) มีโลมาวัยแก่ 1 ตัวเป็นแผลหลุมขนาดเล็กที่บริเวณปลายครีบหลัง เสียงและคุณภาพการหายใจปกติ อัตราการหายใจอยู่ที่3-8 ครั้งต่อ 5 นาที
– โลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris) 1 ตัว พบบริเวณแนวชายฝั่งอำเภอหัวไทร มีพฤติกรรมว่ายน้ำรวมฝูงกับโลมาหลังโหนก จากการตรวจสุขภาพพบว่ามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ (body condition score 2.5-3/5) เสียงและคุณภาพการหายใจปกติ อัตราการหายใจอยู่ที่ 3-8 ครั้งต่อ 5 นาที.-สำนักข่าวไทย