กรุงเทพฯ 30 มี.ค. – กลุ่มบริษัท Dow ร่วมกับ กฟผ. บริษัท ชิชาง คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จำกัด และบริษัท แกลสซี่แลนด์ จํากัด เปิดตัว 3 ทีมผู้ชนะเลิศในเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ FIRST® Tech Challenge Thailand ครั้งที่ 3 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ชิชาง คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จำกัด และบริษัท แกลสซี่แลนด์ จํากัด เปิดตัว 3 ทีมผู้ชนะเลิศในเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ FIRST® Tech Challenge Thailand ครั้งที่ 3 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สำหรับเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์รายการ FIRST® Tech Challenge THAILAND ครั้งที่ 3 Season 2021-2022 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ STEM Education พรัอมพัฒนาทักษะด้านกระบวนการคิด การแก้ปัญหา การออกแบบ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ในปีนี้ได้เปิดรับสมัครผู้ท้าชิงที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ม.1-ม.6 หรือเทียบเท่า ร่วมสร้างทีมจำนวน 4-10 คน เพื่อพิชิตภารกิจการขนส่งในหัวข้อ “FREIGHT FRENZY”
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Ezreal จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ และทีม CKK Robot Senior จากโรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ป้ายประกาศเกียรติคุณรางวัลชนะเลิศ เกียรติบัตรรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง FTC พร้อมทุนการศึกษาทีมละ 10,000 บาท
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า เวที FIRST® Tech Challenge THAILAND มุ่งส่งเสริมทักษะการเขียนโปรแกรมและพัฒนาหุ่นยนต์ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำ และได้ฝึกใช้แนวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยพัฒนาฝึกทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น และจะเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต
การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ในระบบ “สะเต็ม” หรือ STEM Education ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขาวิชาหลัก คือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) นำมาสู่การพัฒนาเยาวชนให้มี ทักษะ กระบวนการคิด การแก้ปัญหา การออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง โดยในปีนี้ได้กำหนดหัวข้อภารกิจในด้านการขนส่งให้ผู้เข้าแข่งขันแก้ไขโจทย์ที่คณะกรรมการกำหนดขึ้นมา เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ในการฝ่าด่านและอุปสรรคในระบบการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ หุ่นยนต์ที่เด็ก ๆ ได้ออกแบบขึ้นเองนี้มีโอกาสที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อการผลิตหุ่นยนต์ในเชิงพาณิชย์ใช้ในระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยได้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย