ชลบุรี 29 มี.ค. – รมช.มนัญญา ลุยด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง สั่งกรมวิชาการเกษตรตรวจเข้มมาตรการส่งออก-นำเข้า สกัดผลไม้สวมสิทธิ GAP ไปจีน
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ติดตามมาตรการส่งออกผลไม้ทางเรือ ในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยประชุมรับฟังรายงานการปฏิบัติงานของด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
จากนั้นเยี่ยมชมการปฏิบัติงานตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตร ตลอดจนระบบเทคโนโลยี e-Lock ติดตามสินค้าควบคุมตู้คอนเทนเนอร์ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ที่ศูนย์เอกซเรย์สินค้า ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้นตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานตรวจสอบสินค้าเกษตรเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ที่ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของด่านตรวจพืชฯ ปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎระเบียบ ประกาศ และกฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ตามคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานของด่านตรวจพืชให้ชัดเจน ครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขออนุญาต การตรวจสอบสินค้า การตรวจปล่อยร่วมกับหน่วยงานศุลกากรในพื้นที่ รวมถึงการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูพืชที่อาจจะติดมากับสินค้านำเข้าแพร่กระจายและทำความเสียหายกับแปลงผักผลไม้ แปลงเกษตรไทย หรือผลผลิตทางการเกษตร ศัตรูพืชที่สำคัญ
ที่สำคัญอีกประการคือ ต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้มีผลไม้สวมสิทธิ GAP ออกไป จะทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยเสียหาย ตลอดจนย้ำให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรบริเวณชายแดนอย่างเข้มงวด
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมการนำเข้าพืช ผลผลิตพืช ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto Certificate) เพื่อรับรองการปลอดโรคแมลง ศัตรูพืช สำหรับสินค้าส่งออก ตามเงื่อนไขประเทศปลายทาง โดยในปี 2564 มีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช 66,166 ฉบับ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน ลำไยสดและอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็ง เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ข้าวสาลี แอปเปิล ข้าวบาร์เลย์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
สำหรับการส่งออกผลไม้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีน 6,238 ชิปเมนต์ ปริมาณ 177,522.78 ตัน มูลค่าประมาณ 3,390 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกทางเรือ 62% ทางบก 26% และทางอากาศ 12%.-สำนักข่าวไทย