กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – คปภ.เร่งรัดทิพยประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทน รวดเร็ว เป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัยโควิด-19 ตามที่มีกลุ่มผู้เอาประกันภัย 280 คน แต่งกายชุดดำรวมตัวกันที่บริเวณหน้าบริษัท ทิพยประกันภัย สำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ จ่ายเคลมค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน และค่าชดเชยรายได้ แต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ซึ่งกลุ่มผู้เอาประกันภัยเดินทางมาร้องเรียนกับสำนักงาน คปภ.
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มผู้เอาประกันภัยโควิด-19 จำนวน 280 คน แต่งกายชุดดำรวมตัวกันที่บริเวณหน้าบริษัท ทิพยประกันภัย สำนักงานใหญ่ ย่านพระราม 3 เพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ จ่ายเคลมค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน และค่าชดเชยรายได้ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย แต่กลุ่มผู้เอาประกันภัยและบริษัทฯ ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ หลังจากนั้นกลุ่มผู้เอาประกันภัยส่งตัวแทน 20 คน เดินทางมาร้องเรียนกับสำนักงาน คปภ. ย่านถนนรัชดาฯ โดยผู้บริหาร คปภ. รับฟังข้อร้องเรียน ตามที่สำนักงาน คปภ.ได้ออกแนวปฏิบัติกรณี admit เป็นผู้ป่วยใน และคำสั่งนายทะเบียนที่ 6/2565 กรณีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่รักษาตัวแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) หรือ Hotel Isolation จนเป็นที่พอใจของกลุ่มผู้เอาประกันภัย
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ประชุมเพื่อติดตามปัญหาข้อร้องเรียน กรณีค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน และค่าชดเชยรายได้ ตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ผ่านระบบ Microsoft Teams เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ร่วมกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดย ทิพยประกันภัย ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศแนวปฏิบัติ และคำสั่งนายทะเบียนที่ 5-6/2565 เพื่อเร่งเคลียร์ 5 ประเด็น ดังนี้
1. บริษัทฯ จะจัดตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้น เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นให้รวดเร็ว ประสานงานกับสำนักงาน คปภ. อย่างใกล้ชิด
2. กรณีการโต้แย้งความจำเป็นทางการแพทย์ หากบริษัทฯ ประสงค์จะตรวจสอบหรือโต้แย้งดุลพินิจความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา เมื่อบริษัทฯ ดำเนินการแล้ว ถ้าแพทย์ผู้ทำการรักษาผู้เอาประกันภัยมีความเห็นเป็นประการใดให้บริษัทฯ ยึดปฏิบัติตามนั้น แต่ถ้าติดตามจากแพทย์ผู้ทำการรักษาผู้เอาประกันภัยแล้วยังไม่ทราบผลการพิจารณา ให้บริษัทฯ จัดส่งทีมแพทย์ของบริษัทฯ เข้าไปประสานตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือโรงพยาบาลในแต่ละกรณีโดยเร็ว
3. ในการตรวจสอบรายชื่อและเอกสารประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ให้บริษัทฯ เร่งตรวจสอบเอกสารของผู้เอาประกันภัย หากพบว่าเอกสารยังไม่ครบถ้วนถูกต้อง ให้บริษัทฯ ประสานแจ้งผู้เอาประกันภัยให้ดำเนินการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาโดยเร็ว ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารของผู้เอาประกันภัยควบคู่กันไปด้วย
4. กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่มีประวัติการรักษาพยาบาล หรือมีประวัติการรักษาพยาบาล แต่ระบุรายละเอียดไม่ครบถ้วน บริษัทฯ สามารถใช้เอกสาร A01-4 ที่บริษัทฯ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นเอกสารดังกล่าวแทนประวัติการรักษาได้ เพื่อประกอบการพิจารณาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ ไม่เกินจำนวนความคุ้มครองที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
5. บริษัทฯ พร้อมจะจ่ายเคลมตามสัญญาประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และรวดเร็ว
หากบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำนักงาน คปภ. พร้อมจะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย.-สำนักข่าวไทย