กรุงเทพฯ 9 มี.ค.- โอไมครอน ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน โดยไม่รวมผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ‘รัสเซีย-ยูเครน’
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ระดับ 43.3 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และค่าดัชนีต่ำสุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่ตุลาคม 2564 เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลถึงการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เข้ามาซ้ำเติม ที่อาจจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ให้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบกับต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก ที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคต และส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อในประเทศ และ การท่องเที่ยว รวมถึงการจ้างงานในอนาคต
ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน อยู่ที่ระดับ 36.1 จากเดือน มกราคม ที่ระดับ 37.2 เนื่องจากตัวชี้วัดในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุนการท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า การค้าชายแดน และภาคบริการ รวมถึงการจ้างงาน มีการปรับตัวลดลงทั้งหมด แม้จะมีปัจจัยบวกจาก การที่สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส4 ปี2564 ขยายตัว 1.9% กบง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี มาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของรัฐ เช่น ชอปดีมีคืน คนละครึ่ง การฉีดวัคซีนป้องกันดควิดทั่วโลก การส่งออกเดือนธันวาคม ปี2564 ขยายตัว และราคาพืชผลทางการเกาตรปรับตัวดีขึ้นแต่ขณะเดียวกันเริ่มมีสัญญาณลบมากขึ้นจากความกังวลสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอน สงครามรัสเซีย – ยูเครน ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และการปรับนโยบายรักษาผู้ป่วยโควิดของรัฐ ภาคเอกชน จึงอยากให้ภาครัฐ เร่งหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หามาตรดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงวขึ้น มาตรการช่วยเหลือบรรเทาราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้ามาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน –แก้ไขปัยหาหนี้ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม แม้ในเดือนกุมภาพันธ์ ผลกระทบจากความขัดแย้ง จะยังไม่ส่งผลกระทบ แต่ราคาน้ำมันดิบ ก็ทรงตัวสูงและขณะนี้ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ชะลอลง และจากการประเมินผลกระทบจากกรณีพิพาทรัสเซียกับยูเครนที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งผลกระทบทางตรง จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไปพื้นที่พิพาทลดลง 70-90% เทียบกับปีที่แล้ว รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง และรายได้จาการส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศลดลง รวมไปถึงการขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญ ทั้งเหล็ก ที่ใช่ผลิตกระป๋อง ปุ๋ย และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่กระทบกับเกษตรกรในประเทศ
ทั้งนี้ ผลกระทบทางอ้อมจะมีผลให้ค่าเงินบาทผันผวน เกิดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ การส่งออกไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะยุโรปชะลอลง อัตราเงินเฟ้อเพิ่งสูงขึ้น จากราคาน้ำมันดิบที่มีโอกาสแตะไปถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง โดยมีการประเมินในเบื้องต้น หากสถานการณ์ลากยาวไปถึงสิ้นปีนี้ ในภาพรวมจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย กว่า 244,750 ล้านบาท ให้หดตัวลง 1.5% โดยจะขยายตัวเพียง 2.7% และอัตรเงินเฟ้อจะสูงถึง 4.5-5.5% หรือ กรณีที่ดีที่สุดสถานการณ์จบภายใน 3 เดือน จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 73,425 ล้านบาท กระทบGDP 0.5% เหลือโตอยู่ที่ 3.7% และอัตราเงินเฟ้อ จะเฉลี่ย 3-3.5% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมัน เฉลี่ย 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังไม่มีปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงไว้ที่ 3.5-4.5% เพราะยังเป็นไปได้อยู่หากสถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลายเร็วกว่าที่คิด และยังต้องติดตามราคาพลังงาน โดยเฉพาะภาครัฐ จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปถึงเมื่อไหร่ รวมถึงสถานการณ์โอมิครอน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยจะปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยอีกครั้งช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์นี้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย