กทม. 5 มี.ค.-โฆษกรัฐบาล เผยยอดค่าใช้จ่ายจากมาตรการของรัฐเกือบ 5.4 หมื่นล้านบาท ใช้ได้ถึง 30 เม.ย.นี้ ส่วน ก.คลังเร่งหารือข้อสรุป 2.6 ล้านสิทธิที่ถูกตัดสิทธิ หลังไม่ได้ใช้ภายในกำหนด
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้า มาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐของปี 2565 จำนวน 3 โครงการ ที่เปิดให้ใช้จ่ายไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ.65 ประกอบด้วย โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลเพิ่มวงเงินสนับสนุนในการช่วยลดภาระการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของประชาชน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยความคืบหน้าล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 3 มี.ค. 65 ผู้ใช้สิทธิ สะสม รวม 40.72 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 53,889.99 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.23 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 49,420.9 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 25,104.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 24,316.2 ล้านบาท 2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.28 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 4,116.12 ล้านบาท และ 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.21 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 352.97 ล้านบาท
นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายในการขับเคลื่อนทุกกลไกเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยุคที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด -19 โดยรัฐบาลได้มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชน เป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีผู้ประกอบการบริการร้านค้า ร้านธงฟ้า OTOP รวมทั้งกิจการขนส่งสาธารณะ ร่วมโครงการมากมาย ถือเป็นโครงการที่ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ลงทะเบียนไว้ต่างได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ หลังจากที่ให้สแกนใช้จ่ายสิทธิภายในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ไม่ใช้สิทธิตามวันที่กำหนด ถูกตัดสิทธิจำนวน 2.6 ล้านสิทธิ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง ในระดับนโยบายว่าจะดำเนินการกับสิทธิที่เหลืออย่างไรต่อไป
“ประชาชนสามารถใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 หรือจนกว่าจะใช้จ่ายเต็มวงเงิน 1,200 บาท โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจร่วมกันออกแบบมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในแต่ละช่วงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องวิเคราะห์ปัจจัยหลายด้านควบคู่กัน นอกจากนี้ ท่านนายกฯ ยังได้ติดตามราคาสินค้าเกษตรเร่งช่วยเหลือ ชาวนา เกษตรกร โดยเชิญชวนให้ประชาชนบริโภคและอุดหนุนสินค้าเกษตร ผลไม้ตามฤดูกาลในช่วงนี้เป็นการเป็นการเพิ่มวิตามินซีช่วงสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายป้องกันโควิด-19 ได้ และขอให้ประชาชนเข้มงวดในมาตรการ Universal Prevention ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังต่อไป” นายธนกร กล่าว.-สำนักข่าวไทย