กรุงเทพฯ 3 มี.ค.-หอการค้าไทย ร่วมกับ ททท. และจังหวัดกระบี่ พบผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว (กระบี่/พังงา/ภูเก็ต) เสนอขอให้รัฐยกเลิกลงทะเบียน Thailand Pass และ Test & Go เพื่อกระตุ้นอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดประชุมหารือเพื่อรับฟังความเห็นผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ Next Normal ของการท่องเที่ยวไทย โดยมีนายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายราชัน มีน้อย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกระบี่ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพังงา นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในภาคใต้ มัคคุเทศก์จาก 3 จังหวัด กระบี่ พังงา และภูเก็ต ธุรกิจสปาและบริการเพื่อสุขภาพ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคม และเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต เข้าร่วม 108 คน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการหารือกันในประเด็นการส่งเสริมและดึงดูดนักเดินทางต่างชาติมาไทย โดยได้มีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass และ Test & Go ในระยะถัดไป โดยอาจพิจารณาให้สายการบินช่วยตรวจผล RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง และเอกสาร Vaccine Passport ที่แสดงข้อมูลการรับวัคซีนครบโดส ก่อนขึ้นเครื่อง หากเข้าตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องตรวจและกักตัวในคืนแรก แต่ใช้การตรวจด้วย ATK แทน เพื่อไม่ให้เกิดภาระ และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทาง ซึ่งหลายประเทศก็ได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าจะสร้างบรรยากาศในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดและผู้ประกอบการในพื้นที่ ยังจะร่วมกันรณรงค์และกำชับให้ผู้ประกอบการและประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหอการค้าไทยเน้นให้ความสำคัญการส่งเสริมและพัฒนา Trade & Travel ควบคู่กันไป เพราะหากมองจากจุดแข็งของประเทศ พบว่า นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมองประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง ทั้งการทำธุรกิจ การพักผ่อนท่องเที่ยว หรือแม้แต่การพักอาศัยในระยะยาว แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน จะกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่ยังคงมีโอกาสทำตลาดกับนักท่องเที่ยวอินเดียที่มีศักยภาพ และซาอุดีอาระเบียที่เพิ่งมีการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศไทย และมีการเปิดเที่ยวบินตรงมายังไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นความหวังใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง
ส่วนการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ยังสามารถเติบโตได้ดีในช่วงนี้ อันเป็นผลมาจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ได้รับการตอบรับที่ดี ภายหลังเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติม 2 ล้านสิทธิ เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการใช้สิทธิไปแล้วเกือบ 1 ล้านสิทธิ
โดยหลังจากนี้ ททท. และหอการค้าไทย จะมีการหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการนำเสนอรัฐบาลให้มีการสนับสนุนงบประมาณโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการและโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ ทั้ง Happy Model (โมเดลอารมณ์มีความสุข) สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวคุณภาพ โครงการประชุมเมืองไทย ช่วยชาติ พร้อมโปรโมทวันธรรมดาน่าเที่ยว Workcation เพื่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
“ทั้งนี้ ททท. ตั้งเป้าหมายปี 65 ตลาดในประเทศมีจำนวนนักท่องเที่ยว 160 ล้านคน/ครั้ง ตลาดต่างประเทศ 10 ล้านคน รายได้ทางการท่องเที่ยว 1.28 ล้านล้านบาท ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดของโอไมครอน แต่ก็ได้มีการเตรียมแผน เพื่อให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับมา โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าคุณภาพและนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เน้นสินค้าและบริการการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานคุณภาพ และนำเสนอแนวคิด BCG Model เชื่อมโยงการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืน”
นางสาวฐาปนีย์ กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ยังได้เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนแหล่งเงินทุนช่วยผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว ควบคู่กับการจัดทำแผนการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติ เน้นสื่อสารให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการ Restart ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งหอการค้าไทยจะเชื่อมกับภาคการเงิน เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการเติมทุนต่อไป.-สำนักข่าวไทย