กรุงเทพฯ 17 ก.พ.-ปตท.กำไรปี 64 กว่า 1.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่เพิ่มขึ้น คาดว่าราคาน้ำมันดิบปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 81-86 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เตรียมเสนอผู้ถือหุ้นลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และก่อหนี้ 200,000 ล้านบาท ใน 5 ปี (ปี 2565-2569) และจ่ายปันผลครึ่งหลังปี 64 อีกหุ้นละ 0.80 บาท
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. แจ้งผลดำเนินการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในปี 2564 ปตท. และบริษัทย่อย มีกําไรสุทธิจํานวน 108,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70,597 ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 100.0 จากปี 2563 ที่มีกําไรสุทธิจํานวน 37,766 ล้านบาท
สำหรับปี 2564 ปตท. และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขาย จํานวน 2,258,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จํานวน 643,153 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.8 จากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยหลักจากธุรกิจการค้าระหว่าประเทศ และธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น รวมถึงธุรกิจน้ำมัน จากราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากปีก่อน
EBITDA ในปี 2564 มีจํานวน 427,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 202,284 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.6 โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก Accounting GRM ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากขาดทุน 0.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2563 เป็นกําไร 5.1 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2564 รวมถึงส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น ทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ นอกจากนี้ ในปี 2564 มีกําไรสตอกน้ำมันของกลุ่ม ปตท. ประมาณ 46,000 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปี 2563 มีขาดทุนจากสตอกน้ำมันประมาณ 19,000 ล้านบาท ในส่วนของผลการดําเนินงานของธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหลักจากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดําเนินงานเพิ่มขึ้น โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ และธุรกิจจัดหาและจัดจําหน่ายก๊าซฯ ตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น รวมถึงธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีผลการดําเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบและคอนเดนเสทในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจโลกในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปี 2564 โดยเฉพาะครึ่งแรกของปี จากหลายประเทศกลับมาดําเนินมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ที่เข้มงวดขึ้น การขาดแคลนปัจจัยการผลิต การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง เงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ตามรายงานของ IHS ณ เดือนมกราคม 2565 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.0 MMBD ไปอยู่ที่ระดับ 100.8 MMBD ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2565 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 81-86 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4-6.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 ในสายโอเลฟินส์ มีแนวโน้มทรงตัวจากการขึ้นใหม่ของกําลังการผลิต แม้ว่าอุปสงค์จะเริ่มฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ในขณะที่สายอะโรเมติกส์ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบและแนฟทา ทั้งนี้ ส่วนต่างระหว่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์กับแนฟทา มีแนวโน้มลดลงจากอุปทานใหม่ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน https://www.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=16450517715211&sequence=0
นายอรรถพล กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2565 จะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปี 2565 จะเสนอที่ประชุมอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของ ปตท. หนังสือบริคณห์สนธิ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสําหรับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต และอนุมัติแผนการจัดหาเงินกู้ของ ปตท. ซึ่งหมายรวมถึงวงเงินการกู้ยืม และ/ หรือการก่อหนี้ของบริษัทย่อย เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนให้ ปตท. ภายในวงเงินเทียบเท่า 200,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2565-2569) เพื่อใช้ในการลงทุน เงินทุนหมุนเวียนทั่วไป หรือทดแทนเงินกู้เดิมที่ครบกําหนดชําระ (Refinance) ซึ่งจะพิจารณาดําเนินการตามวิธีที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด โดยกลุ่ม ปตท.ได้จัดเตรียมแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2565-2569) วงเงินรวมประมาณ 9.4 แสนล้านบาท รวมไปถึงเห็นสมควรเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิจากผลประกอบการปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท เมื่อหักเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท มีเงินปันผลที่จะจ่ายสําหรับผลประกอบการครึ่งหลังปี 2564 อีกในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์รับเงินปันผลในวันที่ 4 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการครึ่งหลังปี 2564 ในวันที่ 29 เมษายน 2565.-สำนักข่าวไทย