กรุงเทพฯ 14 ก.พ.- “สุพัฒนพงษ์” แย้มจะลดภาษีดีเซลหรือไม่ รอ ครม. 15 ก.พ. พร้อมเดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะเฟส 2 ปรับเพิ่มขึ้นอีก 600 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขยะชุมชน 400 MW ขยะอุตสาหกรรม 200 MW เตรียมเปิดรับซื้อลอตแรกปีนี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เรื่องของการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล คงจะต้องรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 15 ก.พ.ว่า จะมีการนำเสนอเข้าสู่ครม.ได้ทันหรือไม่เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นเกินคาดนั้น มาตรการดูแลราคาพลังงานส่วนหนึ่งต้อรอผลของการลดภาษีด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องผสมผสานกันระหว่างภาษีและการดูแลโดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
“อยากให้ทุกคนใจเย็นๆ รอดูที่ประชุมครม.อีกทีว่า ทันหรือไม่ อย่าเพิ่งใจร้อน ทุกอย่างจะต้องดำเนินการอย่างรอบครอบ ตอนนี้ถ้าจะให้ระบุชัดเจนคงไม่ได้ ประเด็นสำคัญคือจะต้องรอผลการประชุมจากครม.ว่า จะมีการอนุมติเรื่องใดบ้าง แล้วต้องติดตามสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่าเป็นอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
ส่วนความคืบหน้าเรื่องมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นั้น ได้ส่งเรื่องไปที่ประชุมครม.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องรอที่ประชุมครม.จะบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาเมื่อใดแน่
ในวันนี้ (14 ก.พ. )นายสุพัฒนพงษ์ และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามระหว่างกระทรวงพลังงานโดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในบัณทึกความเข้าใจการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า (Waste-to- Energy) และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีระยะเวลาความร่วมมือ 4 ปีเพื่อสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจ BCG ( (Bio-Circular-Green Economy Model)
สำหรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเฟส 2 เพิ่มขึ้นอีก 600เมกะวัตต์แบ่งเป็นขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 200 เมกะวัตต์โดยเตรียมเปิดรับซื้อภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าปี 2565 จะแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมปีละ 100 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 200 เมกะวัตต์ กำหนดแผนจะผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ(COD)ปี 2567 และจะประกาศรับซื้อในปริมาณเดียวกันอีก ในปี 2566 กำหนดCOD ปี 2568
โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะไปแล้วในระยะแรกรวมเป็นปริมาณทั้งสิ้น 343.94 เมกะวัตต์แบ่งเป็นขยะชุมชน 313.16 เมกะวัตต์และขยะอุตสาหกรรม 30.78 เมกะวัตต์และยังมีในส่วนของการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตความร้อนปริมาณ 135 Ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)
นายสุริยะ กล่าวว่า ทั้ง 2 กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อศึกษาแนวทางศักยภาพของพื้นที่ และปริมาณขยะอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าดังกล่าวที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) และให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 โดยในส่วนของ ขยะอุตสาหกรรมตั้งเป้หมายจะป้อนการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5 ล้านตันจากทั้งหมด 18 ล้านตัน โดยโรงงานที่สร้างขยะมีรวม 6 หมื่นแห่ง หากมีโรงไฟฟ้าแล้วในอนาคตก็ลดปัญหาการหาหาพื้นที่ฝังกลบและลดกระทบสิ่งแวดล้อมชุมชนเพิ่ม .-สำนักข่าวไทย