กรุงเทพฯ 9 ก.พ.- รมว.คลัง โชว์วิสัยทัศน์ปี 2030 มุ่งดูแลสวัสดิการสังคม ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ลดทำลายสิ่งแวดล้อม สภาพัฒน์แนะนโยบายเศรษฐกิจยืดหยุ่น ฟื้นตัวเร็วจากวิกฤติ ขณะที่ธปท. เตรียมออกโครงสร้างพื้นฐานการเงินใหม่ปลายปี ให้บริการสกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา Post Today Forum 2022 หัวข้อ “Thailand Vision 2030” ว่า รัฐบาลต้องบริหารนโยบายการคลัง รองรับวิสัยทัศน์ในระยะยาว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงต้องหันมาพึ่งพา เศรษฐกิจสมัยใหม่ พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อปูพื้นฐานทางเศรษฐกิจยุคใหม่ รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ สังคมออนไลน์ ทุกส่วนราชการจึงต้องหันมาใช้เทคโนโลยีบริการประชาชน ภาคธุรกิจให้ทันสังคม
รัฐบาลยังต้องส่งเสริมช่องทางการระดมทุนของประชาชน ร้านค้ารายย่อย เอสเอ็มอี ผ่านแนวทาง กู้โดยตรงในลักษณะ Peer-to-Peer Lending (P2P) เพื่อเชื่อมโยงเงินระหว่างผู้มีเงินออม กับผู้ต้องการขอสินเชื่อ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง หรือส่งเสริมการใช้ระบบ cloud Funding ซึ่งมีภาคเอกชนหลายหน่วยงานเริ่มหันปล่อยกู้ให้กับเครือข่ายสมาชิก ผู้ผลิตสินค้าให้ รวมถึงการร่วมลงทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุน VC (Venture Capital) เพื่อไปลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ นับเป็นแนวทางระดมทุนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
รัฐบาลยังต้องดูแลสวัสดิการฯให้กับทุกกลุ่ม เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว เห็นได้จากปัญหาโควิด-19 ระบบประกันสังคม มาตรา 39,40 ได้ช่วยเหลือแรงงานอิสระได้อย่างมาก รวมไปถึงการดูแลผ่านกองทุนประกันสุขภาพ กองทุนบัตรสวัสดิการฯ นับว่าช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชนได้อย่างมาก จึงต้องส่งเสริมให้ประชาชน สะสมเงินออม ทั้งภาคบังคับ ภาคสมัครใจ ผ่านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน กอช. และกองทุนประเภทต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อต้องใช้เงินจำนวนมาก แก้ปัญหาโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท และยังต้องเดินหน้าแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องวางนโยบายการคลังในอนาคต เพื่อหารายได้เข้าชดเชยเงินกู้ในช่วงที่ผ่านมา ยอมรับว่า เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คาดหวังว่าจีดีพีร้อยละ 3.5-4.5 ในปี 65
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น หนี้ภาคครัวเรือนเป็นอีกระเบิดเวลาก้อนหนึ่ง ซึ่งต้องเร่งเข้าไปแก้ไขดูแล ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ เจรจาหนี้ เพื่อให้รายย่อยไม่ต้องถูกยึดบ้าน ประกอบอาชีพต่อไปได้ เพราะปัญหาโควิด-19 กระทบรายย่อยอย่างมาก จึงต้องเร่งแก้ไขไม่ให้ส่งผลในระยะยาว ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้ารุนแรงมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจในอนาคต จึงต้องปรับการพึ่งพาเศรษฐกิจจากการดึงเงินลงทุนต่างชาติและผลิตเพื่อการส่งออก หันมาพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ และพึ่งพาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ในส่วนของ คริบโตเคอเรนซี่ นับว่ามีแรงกับสังคมยุคใหม่ หากประเทศมหาอำนาจมีปัญหาเศรษฐกิจ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการเงิน ย่อมกระทบต่อประเทศด้วยพัฒนา ตามไปด้วย จึงต้องหันมาใช้นโดยบาย D-Risk เพื่อลดความเสี่ยงโดยไม่พึ่งพาด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป ประคองให้เศรษฐกิจเดินไปอย่างยืดหย่น แม้มีปัญหาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายใต้เศรษฐกิจยุคใหม่ แต่ยังต้องบริการประชาชนผ่านออนไลน์มกขึ้น หลังจากคุ้นเคยกับการแสกนซื้อค้า ผ่านระบบคนละครึ่ง การฝากเงินผ่านพร้อมเพย์ รูดเงินซื้อสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการฯ จึงต้องนำมาส่งเสริมมากขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. เตรียมออกโครงสร้างพื้นฐานการเงินยุคใหม่ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอชน ประชาชนออกนวัตกรรมทางการเงิน สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชน Retail CDCB (retail central bank digital) ออกโดย ธปท. เพื่อยกระดับการชำระเงินของประชาชน การวางโครงสร้างพื้นฐานแล้วเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างปลอดภัย ยอมรับว่าคนไทยใช้ระบบพร้อมเพย์ บริการทางการเงินออไลน์มากเป็นอันดับต้นของโลก
“คริบโตเคอเรนซี เป็นกระแสของสังคมไทย แต่ต้องวัดให้ได้ว่าดีกว่าแก่นแท้เดิมในการใช้เงินแลกเปลี่ยน ธปท.ไม่ได้คัดค้าน อะไรดีกว่าเดิมพร้อมเปลี่ยนแปลง ในช่วง 2 ปีข้างหน้า นวัตกรรมทางการจะเปลี่ยนแปลงไปมาก ธปท. ยังเดินหน้าพัฒนา สมาร์ทไฟแนลเชียล ลดขั้นตอน ยุ่งยากซับซ้อนการใช้เอกสาร เช่น การนำเข้า ส่งออกสินค้า ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก เมื่อหันมาใช้ดิจิทัล จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ธปท. ขอยึดหลักกำกับดูแลแบบยืดหยุ่นมากขึ้น หากมีความเสี่ยงจะคุมเข้ม ความเสี่ยงน้อยจะผ่อนคลาย และหากยังคลุมเครือไม่ชัดเจน จะใช้แนวทางป้องกัน แต่ไม่ขัดขวาง” .-สำนักข่าวไทย