กรุงเทพฯ 7 ก.พ.-สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หวั่น เก็บภาษีหุ้น กระทบต้นทุนลงทุนต่างชาติร้อยละ 170 เงินลงทุนอาจหาย 3 หมื่นล้านบาท คาดดัชนีหุ้นไทยแตะ 1,800 จุด ลุ้นเฟดขยับเพิ่มดอกเบี้ย 5 ครั้งช่วง มี.ค.-เม.ย.65 นักลงทุนไม่หวั่นปัจจัย ยุบสภาช่วงปลายปี
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 65 อยู่ในระดับ 93.91 อยู่ในเกณฑ์ ทรงตัว โดยกลุ่มนักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน “ยังร้อนแรง” กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ยังมองตลาด “ทรงตัว” ขณะที่ต่างชาติ “ซบเซา” ยอมรับว่า ปัญหาโควิด-19 นักลงทุนกังวลน้อยลง เพราะความรุนแรงของโอมิครอนไม่มากนัก แต่กังวลเกี่ยวกับการปรับเพิ่มดอกเบี้ยของเฟด ในปีนี้ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.65 ประมาณ 5 ครั้ง หรือขยับเพิ่มประมาณร้อยละ 1.25 เพื่อให้เข้าใกล้ระดับเดิมก่อนโควิด ช่วง 3 ปีก่อน จากดอกเบี้ยนโยบายเคยอยู่ร้อยละ 1.5
เมื่อเตรียมปรับเพิ่มดอกเบี้ยแก้ปัญหาเงินเฟ้อแล้ว สหรัฐยังเตรียมออกมาตรการ QT หรือการดูดเงินออกจากระบบในช่วงเดือนกรกฎาคม ประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ต้องใช้เวลา 3 ปี เพื่อดูดสภาพคล่อง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการทำมาตรการควบคู่กับการเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อ โดยทำเร็วกว่าตลาดคาดการณ์ และยังต้องจับตาแนวโน้ม ราคาน้ำดิบตลาดโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ หลายคู่ ทั้งยูเครน-รัสเซีย ,รัสเซีย-ยุโรป,จีน-สหรัฐ และในตะวันออกกลาง นักลงทุนต่างชาติ ยังมองไทยเป็นแดนหลุมหลบภัย เข้ามาหลบพักการลงทุนที่ปลอดภัย เพราะพื้นฐานดีกว่าหลายประเทศ จึงมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าตั้งแต่เดือนธันวาคม 64- ก.พ.65 ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 ฟื้นตัวอย่างแน่นอนร้อยละ 4 นักลงทุนยังชื่นชอบกลุ่มแบงก์ แต่กังวลกลุ่มประกันภัย เพราะมีปัญหาเรื่องการยื่นเคลมประกัน คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยไปถึงระดับ 1,800 จุด เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจาการท่องเที่ยว การส่งออก การฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง คาดว่าจะมีการยุบสภาในช่วงปลายปีนี้ นักททุนทั้งในและต่างประเทศ ไม่หวั่นวิตกมากนัก เพราะได้สะท้อนไปยังการลงทุนในตลาดบ้างแล้ว นักลงทุนยังมุ่งหวังการฟื้นเศรษฐกิจ จากการท่องเที่ยวและการส่งออก
นายไพบูลย์ มองว่า กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งได้แจ้งว่า การจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นตามรายการซื้อขาย ทำให้ต้นทุนนักลงทุนทั่วไปเพิ่มร้อยละ 70 หรือ 0.7 เท่า ต้นทุนของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มร้อยละ 70 หรือ 1.7 เท่า อาจทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยหายไปร้อยละ 40 จากค่าเฉลี่ยนปัจจุบัน 8 หมื่นล้านบาท อาจเหลือเพียง 5 หมื่นล้านบาท อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจน้อยลง เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน ไทยได้ เงินระดมทุนในตลาดหุ้นไม่ได้ตามที่ต้องการ รัฐบาลควรเน้นมาจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อฐานะบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย