กรุงเทพฯ 2 ก.พ.– เอกชน มองสินทรัพย์ดิจิทัล คือปรากฏการณ์ เลี่ยงไม่ได้ ต้องปรับตัว และสร้างโอกาส ด้าน ก.ล,ต. เตรียมแก้กฏหมาย รองรับโทเคนดิจิทัลแบบระดมทุน ส่วน แบงก์ชาติ แจงยังไม่ให้ใช้คริปโตฯชำระค่าสินค้าบริการ กังวลกระทบนโยบายการเงิน
คณะกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยมีวิทยากรจากทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมโดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานคณะกรรมมาธิการ การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา กล่าวเปิดงานสัมมนา ระบุว่าการจัดการเสวนาครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ตั้งแต่การกำเนิดขึ้นมาของสินทรัพย์ดิจิทัล การนำไปใช้งาน ประโยชน์ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบต่อระบบ เศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงพัฒนาการและสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน เพื่อให้รู้เท่าทัน
โดยในการสัมมนา มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลาย นายศุภกฤษฏ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ได้เทียบเคียงพัฒนาการ ของสินทรัพย์ดิจิทัล กับ อินเทอร์เน็ต ที่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ของคนเราไปอย่างสิ้นเชิง เปรียบเสมือนเป้นอินฟราสตรัคเจอร์ หรือมูลค่าโครงสร้างพื้นฐานของโลก ถือเเป็นอีกยุคหนึ่งของเทคโนโลยี เป็นโอกาส ดังนั้นเราต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงวิธีคิด และมีวิธีบริหารจัดการ ซึ่งหลายๆประเทศได้เริ่มปรับตัวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) หรือ ระบบเศรษฐกิจบนโลกเสมือน (Virtual Economy) มองว่าประเทศไทย ต้องมีการปรับตัว บริหารความเสี่ยง ส่งเสริมโอกาสนี้ เพราะเหล่านี้ป็นปรากฏการณ์ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่นเดียวกับนายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด ที่เปรียบเทียบการใช้งาน สินทรัพย์ดิจิทัล เหมือนอินเทอร์เน็ต ที่มีการควบคุมการใช้ช่วง ยุคปี 80-90 แต่ต่อมากลายเป็นปรากฏการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้ มองต่อไปว่าจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร มองว่าสินทรัพย์ดิจิทัล มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และสร้างกำลังซื้อ โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา มีการใช้แทนเงินตราในต่างประเทศ ทำให้มูลค่าเงินจริงๆ ลดลง หลายประเทศพยายามผลักดันการใช้บิตคอยน์เป็นเงินใช้ชำระค่าสินค้าและบริหาร ใช้ลงทุน ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี (free capital flows) แต่ก็เริ่มมีเรื่องมิจฉาชีพ และฉ้อฉลเข้ามาได้ง่ายขึ้น มองว่าสิ่งที่ยังขาดอยู่ คือการเชื่อมโยงกัน
ดร.นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ออก พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มากำกับดูแลสินทรัพย์ โดยแบ่งตาม ลักษณะการใช้งานและการให้สิทธิ์ ได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1.คริปโตเคอเรนซี่ ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ 2.โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงุทน (Investment Token) และ 3.โทเคนดิจิทัล เพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ที่ใช้เพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ ทั้งนี้ การกำกับดูแล โทเคนดิจิตัล จะแตกต่างจากคริปโตเคอเรนซี่ โดย ก.ล.ต. ได้มีการทบทวนเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กรณีโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะการระดมทุนจะไปเข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ส่วนคริปโตเคอเรนซี่ อยู่ระหว่างหาแนวทางร่วมกันว่าจะกำกับดูแลอย่างไร
นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าววว่า สินทรัพย์ดิจิทัลอยู่บนบลอกเชน ที่เปรียบเสมือนระบบเก็บข้อมูล สะดวก และสามารถสร้างความไว้ใจที่ในการทำธุรกิจที่แม้ต่างฝ่ายไม่รู้จักกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยนำมาใช้ในหลายเรื่อง เช่น การออกหนังสือค้ำประกัน การพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล การโอนเงินระหว่างประเทศ ถือว่าบลอกเชน เป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและอีกหลายเรื่อง ส่วนการนำสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ปัจจุบัน ธปท. ยังไม่อนุญาตให้ใช้เงินสกุลเงินตราต่างประเทศในการซื้อสินค้าและบริการในไทย เพราะมีผลกับนโยบายทางการเงิน ต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อ ราคาสินค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีรายได้น้อย แนวคิดนี้นำมาใช้กับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่นเดียวกัน ในฐานะเป็นสื่อชำระเงิน แต่ถ้าเป็นการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในทางอื่นไม่ได้มีการห้ามใช้แต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย