กรุงเทพฯ 18 ม.ค.-สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติพร้อมช่วยเหลือห้องปฏิบัติการทดสอบด้านอาหารของไทยให้มีศักยภาพในการตรวจสอบการปนเปื้อน DNA ของเนื้อหมูในอาหารฮาลาล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือ
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่าพร้อมสนับสนุนบริการตรวจวัดการปนเปื้อนของเนื้อหมูด้วยทั้งในกลุ่มของเนื้อสดและกลุ่มอาหารแปรรูป หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยออกประกาศว่า พบ DNA หมูในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นเนื้อวัว หลังจากการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์หา DNA หมู ซึ่งผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ตรวจพบสารพันธุกรรม (DNA) ของหมูในตัวอย่างที่ส่งตรวจ
ทั้งนี้ ปัญหาการปนเปื้อนของเนื้อหมูในเนื้อสดชนิดอื่นหรือการปนเปื้อนของเนื้อหมูในกลุ่มอาหารแปรรูป เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อกลุ่มผู้บริโภคภายในประเทศ และการส่งออกอาหารฮาลาลของประเทศไทย ด้วยเหตุผลทั้งทางด้านสุขภาพและ/หรือด้านศาสนา อีกทั้งยังมีกฎและข้อบังคับในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพเพื่อรองรับ การตรวจสอบการปนเปื้อนด้วยวิธีที่มีความถูกต้องและเชื่อถือได้
ปัจจุบันเทคนิคที่ใช้ในการตรวจวัดสารพันธุกรรมของเนื้อหมูได้แก่ เทคนิค PCR LAMP qPCR และ dPCR โดยที่เทคนิคการวัดสารพันธุกรรมของเนื้อหมูด้วยเทคนิค PCR และ LAMP เป็นการตรวจวัดสารพันธุกรรมในเชิงคุณภาพ (Qualitative Measurement) ในขณะที่ qPCR และ dPCR สามารถตรวจวัดสารพันธุกรรมของเนื้อหมูในเชิงปริมาณ (Quantitative Measurement)
นอกจากนี้ ยังร่วมกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติตุรกี จัดทำการเปรียบเทียบผลการวัดการปนเปื้อนของเนื้อหมูในเนื้อวัวในรูปแบบของอาหารแปรรูปให้กับสถาบันมาตรวิทยาต่างๆ ทั่วโลก และมีความร่วมมือในโครงการพัฒนาวิธีและผลิตวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการจำแนกเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถให้กับห้องปฏิบัติการทดสอบด้านอาหารในประเทศในการตรวจสอบการปนเปื้อนของเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ เป็นการเพิ่มความมั่นใจทั้งผู้บริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ.-สำนักข่าวไทย