กรุงเทพฯ 11 ม.ค. – ทำความรู้จักโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร คืออะไร ติดต่อสู่คนได้หรือไม่ หลังกรมปศุสัตว์ ตรวจพบเชื้อ 1 ตัวอย่าง ที่โรงฆ่า จ.นครปฐม วันนี้
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร “African Swine Fever” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ASF คืออะไร? อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในหมู พบครั้งแรกในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการระบาดในยุโรป เช่น เยอรมนี รวมถึงเอเชีย
ข้อมูลกรมปศุสัตว์ ระบุว่า หากเกิดโรคนี้ในหมู จะทำให้หมูตายเป็นจำนวนมาก ยังไม่มีวัคซีนและวิธีการรักษาที่จำเพาะ โรคนี้ไม่ติดต่อไปสู่คน แต่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมและซากนานหลายเดือน
สำหรับอาการของโรค จะทำให้หมูตายแบบเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำ โดยเฉพาะใบหู ท้อง ขาหลัง และยังมีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในทุกช่วงของการตั้งท้อง ซึ่งจะพบในทุกกลุ่มและทุกช่วงอายุของหมู โดยมีอัตราป่วย 100% และอัตราตาย 30-100% หากเป็นในลูกหมู อัตราตายสูงถึง 80-100% ภายใน 14 วัน
ส่วนการแพร่ระบาดของโรค ผ่านการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของหมูป่วย การหายใจเอาเชื้อเข้าไป รวมถึงการกิน หรือสัมผัสอุปกรณ์ที่มีเชื้อปนเปื้อน และจากข้อมูลยืนยันว่า ASF ไม่ใช่โรคติดเชื้อสู่คน ไม่ก่อโรคหรือส่งผลต่อสุขภาพในคน ประชาชนยังสามารถบริโภคหมูได้ตามปกติ แต่ควรบริโภคเนื้อหมูที่ปรุงสุก เพราะเชื้อ ASF ตายได้เมื่อผ่านการปรุงสุก และที่สำคัญ คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
ในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ก็ต้องดูแลให้ดี ห้ามคนนอกเข้าฟาร์ม รู้แหล่งที่มาของสุกร และงดให้อาหารหมูจากเศษอาหารของคน
ในการแถลงของกรมปศุสัตว์ วันนี้ (11 ม.ค.) ได้ย้ำว่า โรค ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ผู้บริโภคยังสามารถรับประทานเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องให้ความร้อนปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส หากมีข้อสงสัย หรือพบหมูป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือ Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง. – สำนักข่าวไทย