กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบฟาร์มสุกรทั่วประเทศเพื่อค้นหาสาเหตุการเกิดโรคระบาดที่ทำให้สุกรตาย หากเป็นโรค ASF จริงจะดำเนินการตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ส่วนพื้นที่เสี่ยงต้องทำลายสุกรเพื่อควบคุมโรค พร้อมเน้นย้ำทุกฟาร์มให้จัดระบบป้องกันโรคภายในฟาร์มอย่างเคร่งครัด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจจากสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ปูพรมค้นหาและสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุการระบาดของโรคสุกรที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ จนมีการนำเสนอข่าวว่า ราคาเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นเป็นผลจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ทำให้สุกรตายและเนื้อสุกรในประเทศมีน้อยลง
ทั้งนี้โรค ASF เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรซึ่งแพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ 35 ประเทศทั่วโลก ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยารักษาโรค นอกจากนี้เชื้อไวรัสที่ก่อโรคยังมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่น แต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ปัจจุบันมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมา ซึ่งยังคงมีแนวโน้มการระบาดขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ
ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์กำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงต่อโรคในระดับสูงถึงสูงมากจะทำลายสุกรทันทีซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย รวมทั้งเฝ้าระวังโรคทั้งในฟาร์มสุกร โรงฆ่าสุกร สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร และสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ รวมถึงเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสุกร/หมูป่าที่มีชีวิตและซาก เคลื่อนย้ายสุกรภายในประเทศ และการเคลื่อนย้ายสุกรระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังการลักลอบเคลื่อนย้ายทุกกรณีอย่างเข้มงวด
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า หากพบโรค ASF จริงจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เพื่อดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ระหว่างนี้จึงขอความร่วมมือเกษตรกรให้ความสำคัญในการดูแลสุกรของตนอย่างใกล้ชิดให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และให้ความสำคัญในเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม มีคอกคัดสัตว์เพื่อขายแยกจากฟาร์มเพื่อป้องกันพ่อค้าที่รับซื้อสุกรอาจนำเชื้อมาสู่ฟาร์ม โดยเฉพาะการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าและออกจากบริเวณฟาร์ม และโรงเรือน เลือกซื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และกักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือฟาร์มใกล้เคียง หากพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ห้ามนำสัตว์ป่วยตายไปจำหน่าย และรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือ และตรวจสอบโดยเร็ว และลดความเสียหายจากโรคระบาด หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือ call center 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย