นนทบุรี 31 ธ.ค.-กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ตั้งเป้าดันข้าวไทยเจาะตลาดอิตาลี หลังพบมีโอกาสสูง ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ใช้นวัตกรรม แนะต้องติดฉลากเป็นภาษาอิตาเลียน แสดงคุณค่าทางโภชนาการของข้าว และคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 64 กรมฯ เร่งสำรวจโอกาสในการทำตลาดส่งออกให้กับสินค้าต่าง ๆ ของไทย ดังนั้น ในปี 65 นี้ กรมฯ ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ณ กรุงมิลาน อิตาลี ถึงโอกาสในการขยายตลาดการส่งออกข้าวไทยเข้าสู่ตลาดอิตาลี หลังจากที่ได้ทำการสำรวจตลาด พบว่า ปัจจุบันรัฐบาลอิตาลีได้ผ่านคลายมาตรการและควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศได้แล้ว และเศรษฐกิจการค้ากำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้มีความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น และไทยยังได้ลดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป จึงเป็นประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในตลาดอิตาลีและยุโรปมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันอิตาลีเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในยุโรป โดยในปี 2558–2563 ไทยส่งออกสินค้าข้าวไปยังตลาดอิตาลีได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวหอมมะลิ 100% รองลงมา ได้แก่ ข้าวขาว 100% และข้าวกล้องหอมมะลิ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับราคาค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2563 รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าข้าวไทยไปยังอิตาลี โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย) ไทยส่งออกข้าวไปอิตาลีมีมูลค่า 19.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโอกาสของข้าวไทย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอิตาลี ซึ่งปี 2563 มีสูงถึง 1,067,281 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.65 ซึ่งข้าวที่มีโอกาส ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายอยู่แล้ว และควรผลักดันการส่งออกข้าวชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวหอม ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ และข้าวหัก เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออกข้าวไทยมายังตลาดอิตาลี และยังมีโอกาสเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวอิตาลีที่แพ้สารกลูเตนในแป้งสาลี และหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวเพิ่มขึ้น เช่น แป้งข้าวเจ้า พาสต้าจากแป้ง และขนมปัง จึงเป็นโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยด้วย
ทั้งนี้ เห็นว่าผู้ประกอบการที่สนใจขยายการส่งออกข้าวไทยมายังตลาดอิตาลี นอกจากคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงและให้ความสำคัญในด้านระเบียบการนำเข้าของสหภาพยุโรป รวมถึงการติดฉลากสินค้าต้องเป็นภาษาท้องถิ่นอิตาเลียน โดยต้องแสดงคุณค่าทางโภชนาการของข้าวอย่างครบถ้วนและคุณประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
และเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกข้าวไทย กรมฯ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ที่มิลาน จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวไทยในอิตาลีอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ข้าวไทยให้แก่ผู้บริโภคอิตาลี รวมถึงเพื่อให้ผู้บริโภคอิตาลีเลือกรับประทานข้าวไทยมากขึ้น และดำเนินการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ (Online Business Matching) สินค้าข้าว เพื่อเร่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายตามวิสัยทัศน์ “การตลาดนำการผลิต” และเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายช่องทางการตลาดมายังอิตาลีผ่านช่องทางออนไลน์
นางสาวอนงค์นารถ มหาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมิลาน อิตาลี กล่าวว่า ปัจจุบันอิตาลีเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับหนึ่งของยุโรป และอันดับ 27 ของโลก มีสัดส่วนการผลิตกว่าร้อยละ 52 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในยุโรป มีผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี เป็นการผลิตเพื่อตลาดในประเทศร้อยละ 40 และร้อยละ 60 เพื่อส่งออก และมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์บาสมาติ และข้าวที่ผ่านการขัดสีบางส่วน โดยข้าวที่นิยมบริโภคมี 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวชนิดเมล็ดกลม มีการบริโภค 59,297 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.42 ของการบริโภคข้าวทั้งหมดภายในประเทศ นิยมนำมาไปใช้สำหรับทำของหวาน ซูชิ และซุปมิเนสโตรเน่ ข้าวชนิดเมล็ดกลาง นิยมทำเมนูข้าวปั้นทอด ซุปมิเนสโตรเน่ และข้าวอบชีส ข้าวชนิดเมล็ดยาว A นิยมทำเมนูข้าวรีซอตโต้ สลัดข้าว ข้าวอบชีส ข้าวยัดไส้ผัก และข้าวปั้นทอด โดยข้าวชนิดเมล็ดกลางและข้าวชนิดยาว A มีการบริโภคมากที่สุดในอิตาลีถึง 256,980 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.16 และข้าวชนิดเมล็ดยาว B มีการบริโภค 125,573 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.42 ซึ่งในนี้ รวมข้าวที่นำเข้า เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาติ ข้าว Venere และข้าวกล้องหอมมะลิ เป็นต้น โดยนิยมใช้ทำเมนูสลัดข้าวและเครื่องเคียงอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย