นนทบุรี 3 ธ.ค.-กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน พ.ย.64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.71 สูงสุดรอบ 7 เดือนปีนี้ สาเหตุมีหลายปัจจัยทั้งคลายล็อกดาวน์เปิดประเทศหลายธุรกิจกลับมาดำเนินได้ แต่ห่วงเชื้อโควิดรอบใหม่ พร้อมประเมินเงินเฟ้อปีหน้า อยู่ที่ร้อยละ 0.7-2.4
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 2.71 จากร้อยละ 2.38ในเดือนก่อนหน้าโดยสูงสุดรอบ 7 เดือนในปีนี้นับจากเดือนเมษายน 64 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ประกอบกับฐานราคาปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ รวมถึงราคาผักสด ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เนื้อสุกร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุน สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูป) และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกของตลาดในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เงินเฟ้อในเดือนนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ทิศทางของเงินเฟ้อดังกล่าวสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ด้านอุปสงค์สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นร้อยละ 10.4 จากร้อยละ 10.0 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่กลับมาอยู่ในระดับความเชื่อมั่นอีกครั้ง จากระดับ 48.8 มาอยู่ที่ระดับ 50.7 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น จากระดับ 43.4 มาอยู่ที่ระดับ 45.2 ซึ่งต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นเล็กน้อย ส่วนด้านอุปทานสะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้นร้อยละ 8.5 จากร้อยละ 6.9 ในเดือนก่อนหน้า
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.29 จากร้อยละ 0.21 ในเดือนก่อน เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.28 และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.15 (AoA) (ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.8 – 1.2)
อย่างไรก็ตาม สนค.มองแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วในเดือนธันวาคม 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงและมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง ส่วนราคาสินค้าในกลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการ ปริมาณผลผลิต ต้นทุนและวัตถุดิบ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและการท่องเที่ยวซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ และกระทบต่อเงินเฟ้อของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (Omicron) ที่สร้างความกังวลไปทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.8 – 1.2 (ค่ากลางอยู่ที่ ร้อยละ 1.0) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าและการผลิต รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว จะส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก สำหรับด้านอุปทานที่จะส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาอาหารสดที่น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการและสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต และสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิต การขนส่งและเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนอุปทานด้านน้ำมันดิบ คาดว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะทยอยปรับกำลัง การผลิตเพื่อให้สมดุลกับความต้องการ
ทั้งนี้ ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวน รวมถึงมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.7 – 2.4 ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย