กรุงเทพ 29 พ.ย.- ม.หอการค้าไทย นักเศรษฐศาสตร์ แนะฟื้นเศรษฐกิจไทยปีขาล เพิ่มกำลังซื้อเศรษฐกิจชุมชน หนุนรายย่อยมีรายได้เพิ่ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “(นาที) ลงทุน โค้งสุดท้ายปี 65” ในหัวข้อ “เศรษฐกิจหลังเปิดประเทศ” ว่า การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว การคลายล็อคกิจกรรมเศรษฐกิจ และมาตรการฟื้นกำลังซื้อ ส่งผลดีไปยังโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ นับว่าคนชั้นกลาง เริ่มใช้จ่าย ราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มดีขึ้น ขณะที่โอไมครอน อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยระยะสั้นในไตรมาส 1-2 ปี 65
นายธนวรรธน์ บอกว่าต้องติดตามดูว่า รัฐบาลจะควบคุม ไวรัส “โอไมครอน” อย่างไร โดยยังต้องพัฒนาวัคซีนและใส่หน้ากากต่อเนื่อง เพราะบริษัทยาหลายค่ายเพิ่มส่งสัญญาณการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสกลายพันธ์ จึงหวังว่าช่วงไตรมาสแรกปี 65 จะเริ่มดีขึ้น นักท่องเที่ยวจะเริ่มออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ยอมรับว่าเงินภาครัฐ 1 ล้านล้านบาทในปี 65 จะช่วยผลักดันการลงทุนอื่น ขยายการลงทุนเพิ่มตามมาด้วย และหากไม่เพียงพอ รัฐบาลอาจต้องกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท มาขับเคลื่อนเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยเฉพาะการนำมาตรการ ช้อปดี มีคืน กลับมาส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ
ม.หอการค้าไทย มองว่าภาคท่องเที่ยวจากที่เคยเป็นพระรอง จะกลายมาเป็นพระเอกแทน เพื่อนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา จึงเสนอแนะขอให้เน้นการเพิ่มกำลังซื้อ ฟื้นเศรษฐกิจไทยในต่างจังหวัด จากเดิมต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากการส่งออก ยอมรับว่าปีขาล อาจเป็นเสือดักซุ่ม จากผลสงครามการค้าไทย-จีน ยังมีอยู่จากการเลือกตั้งในสหรัฐ อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยและในปี 65 ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค สื่อทั่วโลกจับตาไทย จะมีนักธุรกิจรายใหญ่ เข้ามาร่วมประชุม จะเข้ามาหา ช่องทางการค้า การลงทุน จึงต้องจับตาโอกาสในการลงทุน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธ.ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลก ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกไทยให้ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 นับว่าช่วยให้ภาคอุตสหกรรมส่งออก เริ่มดีขึ้น แม้ต้องเผชิญกับปัญหาโอไมครอน แต่มองว่าไม่เหมือนกับปัญหาล็อคดาวน์ในครั้งที่ผานมา จึงมองว่า ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 65 ให้ย่ำแย่มากนัก สิ่งสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจไทย ต้องทำให้กระจายตัวไปยังเศรษฐกิจชุมชน เพราะที่ผ่านมาคนระดับกลางใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องหันมาให้รายย่อยมีกำลังซื้อ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
มองว่า ครึ่งปีหลังของปี 65 การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยว 5.1 ล้านคน เพราะนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาได้ ยอมรับว่า โควิด-19 ยังอยู่กับไทยอีกนาน สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ยังก่อปัญหาให้รายได้ครอบครัวไม่ทันกับรายจ่าย เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นร้อยละ 2 ต้นทุนการผลิตโรงงานเพิ่มร้อยละ 10 ผู้ผลิตยังยอมเฉือนเนื้อรับต้นทุน ราคาสินค้าเพิ่มขยับร้อยละ 2 หากปรับเพิ่มราคาตามทุนเพิ่ม จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเพิ่มไปอีก ปัจจัย 5 เสือ ของไทย ค่าครองชีพแพง ด้วยการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมคนไทยเที่ยวไทย .-สำนักข่าวไทย