กรุงเทพฯ 29 พ.ย.-กรมบัญชีกลาง เผย การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปี 64 ประหยัดงบกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท เอกชนเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม ใช้ระบบ e-bidding มากสุด 9 แสนล้านบาท
นางแก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และประกาศเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในระบบสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ทำให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ที่สำคัญช่วยประหยัดเงินงบประมาณปี 2564 ให้กับภาครัฐ ซึ่งได้เกิดจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้แล้ว ทั้งสิ้น 5.24 ล้าน โครงการ คิดเป็นร้อยละ 98.34 ของจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด มูลค่าโครงการ 1.33 ล้านล้านบาท ประหยัดงบประมาณได้ถึง 78,667 ล้านบาท หรือประหยัดร้อยละ 5.57 ของจัดซื้อจัดจ้าง
สำหรับวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ประหยัดงบประมาณได้มากที่สุด ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) ประหยัดงบประมาณร้อยละ 15.14 ของวงเงินงบประมาณในการจัดหา ขณะที่ การจัดซื้อจัดจ้าง มูลค่ามากที่สุด คือ การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มูลค่าถึง 919,989 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.66 ของมูลค่างบประมาณ จัดซื้อจัดจ้าง รองลงมาคือ วิธีเฉพาะเจาะจง และวิธีคัดเลือกตามลำดับ และเมื่อจำแนกปริมาณการจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าหน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงมากที่สุด 5,200,064 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 97.45 ของจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 65 กรมบัญชีกลางเตรียมแผนเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อก่อหนี้ภายในไตรมาส 2 หวังให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว รวมถึงมีแผน ปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยงานของรัฐมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง SMEs และ Startup ให้เข้าถึง การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากขึ้น ที่สำคัญต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม.-สำนักข่าวไทย