กรุงเทพฯ 18 พ.ย.- ไทยเร่งศึกษาภาษีคาร์บอน เพื่อดำเนินการตามที่ประกาศไว้ในการประชุม COP26 โดยในส่วนของภาษียานยนต์ จะเข้มเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ประกาศใหม่ได้ในต้นปีหน้า ขณะที่บางจากฯ เร่งแผน Net Zero
ในงานสัมมนาประจำปี Exponentail Path to net Zero ภายใต้แนวคิดบางจาก 100 x 100 ไอเดีย เพื่อโลกยั่งยืน นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตเตรียมจัดทำโครงสร้างภาษีเพื่องสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ที่ประกาศในการประชุม COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เท่ากับศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 โดยโครงสร้างที่ดำเนินการอาจจะพิจารณาใน 2รูปแบบ ได้แก่ 1.ภาษีคาร์บอน โดยกำหนดให้ ปล่อยคาร์บอนได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเกินอัตรากำหนดก็จะต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับ รัฐบาลสิงคโปร์และญี่ปุ่น ประกาศใช้ และ2. การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก ( cap and trade ) โดยกลุ่มผู้ที่ปล่อยคาร์บอนสามารถไปซื้อจากกลุ่มที่สามารถลดคาร์บอนลงมาได้ โดยจีนและเยอรมัน ก็เริ่มใช้รูปแบบนี้ ซึ่งในกรณีนี้ กลุ่มพลังงานถือว่าเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ก็ต้องปรับตัวไปซื้อคาร์บอนในระบบ ก็จะส่งผลให้ การผลิตไฟฟ้าของพลังงานทดแทนเติบโตมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วรูปแบบภาษีจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่นโยบายรัฐบาล
ส่วนภาษีภาคการขนส่งซึ่งครอบคลุมถึงยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวีนั้น ในขณะที่ ทางกรมฯกำลังหารือกับภาคเอกชน เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน และคาดว่า ทางรัฐบาลจะประกาศโครงสร้างภาษีอีวีได้ในเดือน ธันวาคมนี้ หรือต้นปีหน้า โดยเป้าหมายคือลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นขึ้น โดยขณะนี้รถน้ำมันและไฮบริด กำหนดอัตราภาษี อิงกับการปล่อยCO2 ไม่เกิน150 g/km ก็อาจปรับให้ต่ำกว่า 100 g/km หรือ 120 g/kmเป็นต้น อย่างไรก็ตาม การลดโลกร้อนก็ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการเท่านั้น แต่ประชาชนทุกคน ต้องมาร่วมมือดูเรื่องนี้จริงจัง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ BCP ระบุว่า บางจากฯตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ใน คศ. 2030 โดยดำเนินการหลายรูปแบบ ทำให้ลดสัดส่วนรายได้จาก ฟอสซิล:พลังงานทดแทน จาก 60:40 เหลือ 50:50 และตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero GHG emissions) ใน ค.ศ. 2050 ซึ่งนอกจากลดจากกระบวนการผลิตแล้วก็จะมีการซื้อคาร์บอนเครดิตมาทดแทน
ปัจจุบันบางจากฯร่วมกับอีก 19 องค์กรพันธมิตรร่วมเป็นเครือข่าย Carbon Markets Club มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน และได้เริ่มการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนเครดิต ประมาณกว่า 6 หมื่นตัน เทียบเท่าคิดเป็นต้นไม้ 750,000 ต้น. -สำนักข่าวไทย