กรุงเทพฯ 9 พ.ย.- ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินน้ำท่วมปี 64 ทำนาข้าวเสียหาย 1.6 ล้านไร่ มูลค่า 5.4 พันล้านบาท คาดปี 65 ได้ข้าวเปลือก 32 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.3%
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากความกังวลปัญหาอุทกภัยในปีนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศว่า จะมาซ้ำเติมธุรกิจข้าวหรือไม่ ที่ขณะนี้ต้องเผชิญปัญหาทั้งการผลิตและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากของโรงสี (เกือบ 2 เท่าของปริมาณข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบในแต่ละปี) สวนทางการบริโภคในประเทศที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกข้าวยากขึ้น เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยยังสูงกว่าคู่แข่งและมีแนวโน้มที่จะถูกตีตลาดจากข้าวพื้นนุ่มของเวียดนามที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดโลก
ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยในการวิเคราะห์ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ จากเดิมที่ใช้วิธีการลงพื้นที่สำรวจ โดยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจัดเป็นข้อมูล High-Frequency Indicator ซึ่งความถี่ในการอัพเดทข้อมูลเป็นรายวัน จากข้อมูลทางดาวเทียมของ GISTDA พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้มีประมาณ 3.9 ล้านไร่
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินผลผลิตข้าวที่เสียหายจริงจะอยู่ที่ราว 1.6 ล้านไร่ คิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 5.4 พันล้านบาท โดยผลผลิตข้าวที่ได้รับเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัด นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และพิจิตร เนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
ผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2564 ส่งผลเสียหายน้อยเมื่อเทียบกับมหาอุทกภัยในปี 2554 และปัญหาภัยแล้งในปี 2558 โดยอุทกภัยปี 2554 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 11.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมถึง 43.6 พันล้านบาท ขณะที่ภัยแล้งในปี 2558 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 2.9 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 10.5 พันล้านบาท
ผลจากอุทกภัยครั้งนี้ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในระดับที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก จึงคาดว่าในปี 2565 ผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 6.3% แต่การส่งออกยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงด้านราคา เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม และอินเดีย จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกดดันให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง.-สำนักข่าวไทย