กรุงเทพฯ 20 ต.ค.- บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ 9 เดือน ทะลุ 2 แสนล้านบาท ช่วยรักษาการจ้างงาน สร้างแรงงานใหม่กว่า 2 ล้านราย เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย เติมทุน SMEs ไมโคร กลุ่มเปราะบาง หนุนกลับมาเปิดกิจการ
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า การ ค้ำประกันสินเชื่อ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 15 ตุลาคม 2564 อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อทุกโครงการ กว่า 2 แสนล้านบาท นับว่าค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 215,237 ล้านบาท คิดเป็น 1.07 เท่า สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ 4.13 เท่าของวงเงินค้ำประกัน คิดเป็นมูลค่า 833,333 ล้านบาท ก่อเกิดการจ้างงานกว่า 2 ล้านราย จ้างงานใหม่ 383,004 ราย โดยมีภาระค้ำประกันสินเชื่อ (Outstanding) ไตรมาส 3/2564 จำนวน 604,076 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs ในระบบ คิดเป็นร้อยละ 10 ของ มูลค่า GDP SMEs
บสย. เป็นหนึ่งในหน่วยงาน ร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 1-2 โดยร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และ บสย. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ 3 กลุ่ม 1. ผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร (Micro) 2.ผู้ประกอบการ SMEs 3. กลุ่ม คอร์ปอเรท (Corporate) วงเงินรวม 250,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเฟส 1 วงเงิน 100,000 ล้านบาท ค้ำประกันเต็มจำนวนแล้ว และได้เปิดเฟส 2 วงเงิน 100,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา สิ้นสุดโครงการในวันที่ 9 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้ในแผนการดำเนินงานไตรมาสสุดท้าย บสย. พร้อมอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อเติมทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs นำไปใช้ในการปรับปรุงและฟื้นกิจการ ตามแผนเปิดประเทศ มั่นใจว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ระยะ 2 วงเงิน 100,000 ล้านบาท จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้ปรับปรุงเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อให้ดียิ่งขึ้น เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ กลุ่มไมโคร และ SMEs กลุ่มเปราะบาง ช่วยลดภาระต้นทุนค่าธรรมเนียม และเพิ่มโอกาสได้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม ได้แก่
1. ปรับลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันทันที ตั้งแต่ปีแรก สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่ม SMEs เปราะบาง จ่ายเริ่มต้นเพียง 1% ต่อปีต่อเนื่อง 4 ปีแรก รวม 13% ตลอดระยะเวลา 10 ปี
2. เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และกลุ่ม SMEs เปราะบาง ได้รับวงเงินสินเชื่อ เพิ่มขึ้นสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย จากเดิม 15 ล้านบาทต่อราย
3. เพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อโดย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเต็ม 100% ใน กลุ่มไมโคร จากเดิม 90% และ กลุ่ม SMEs เปราะบาง จากเดิม 80%
นอกจากนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู เฟส 2 มีการปรับเพิ่มวงเงินค้ำประกันผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นลูกค้าเดิมที่มีวงเงินกู้อยู่แล้ว และลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงิน ดังนี้
1.ผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร (Micro) หรือผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย กรณีเป็นลูกค้าสถาบันการเงินที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้วงเงินไม่เกิน 30% ของสินเชื่อเดิมหรือสูงถึง 1.5 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน จะได้วงเงินสูงถึง 1.5 ล้านบาท
2.ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าสถาบันการเงินที่มีวงเงินสินเชื่อเดิม ระหว่าง 5-50 ล้านบาท จะได้วงเงินไม่เกิน 30% ของสินเชื่อเดิม หรือระหว่าง 1.5-15 ล้านบาท กรณีถ้าไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน จะได้วงเงิน 1.5-15 ล้านบาท
3.กลุ่มคอร์ปอเรท (Corporate) กรณีเป็นลูกค้าสถาบันการเงินที่มีวงเงินสินเชื่อเดิม ระหว่าง 50 – 500 ล้านบาท จะได้วงเงินไม่เกิน 30% ของสินเชื่อเดิม หรือระหว่าง 15 -150 ล้านบาท กรณีผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน จะได้วงเงิน 15-50 ล้านบาท
ทั้งนี้วงเงินผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร (Micro) และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs อาจจะได้รับวงเงินสูงถึง 50 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการและการพิจารณาของสถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย