กระทรวงการคลัง 18 ต.ค.- รมว.คลัง หวังดึงต่างชาติลงทุนเขตอีอีซี เป็นแม่เหล็กสำคัญฟื้นเศรษฐกิจไทย อดีตผู้บริหาร สศค. แนะระวังเงินเฟ้อจากราคาน้ำมัน ทอท.ยอมรับเปิดประเทศช่วงแรกอาจไม่หวือหวา ขณะที่นักลงทุนคนรุ่นใหม่ สนใจเปิดบัญชีเรียนรู้การลงทุน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ในโอกาสครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจกาคลัง ปีที่ 60 หัวข้อ “ ก้าวข้าม โควิด-19 สู่วิถี Endemic ว่า จากปัญหาไวรัสโควิด-19 นับเป็นเชื้อโรคร้ายกระทบไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทย จึงต้องเปลี่ยนผ่าน จากการแพร่ระบาด ไปสู่การพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจ หวังเร่งรัดพัฒนาพื้นที่อีอีซี นับเป็นเครื่องยนต์สำคัญผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อต้องการดึงเงินลงทุนใหม่ เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจไทย ทดแทน รายได้จากการท่องเที่ยว หายไปสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12 จีดีพี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แนะเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน 3 ระดับ ประกอบด้วย 1. การสร้างภูมิคุ้มกันในระดับครัวเรือน รู้จักการออม รองรับเหตุวิกฤติในอนาคต 2.การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หันมาพึ่งพา ระบบดิจิทัล นับว่าสำคัญมากในยุคปัจจุบัน มุ่งส่งเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การรีไซเคิล ดูแลสิ่งแวดล้อม 3. การปรับโครงสร้างประชากร หันมาลงทุนทางการแพทย์ ดูแลสุขอนามัย การดูแลผู้สูงอายุ ต้องให้ความสำคัญ ปัญหาโควิด-19 แพร่ระบาดนานเกินไป ต้นทุนทางเศรษฐกิจย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย รัฐบาลจึงเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ร้อยละ 70 เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุน
นายสมชัย ฤชุพันธ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แนะให้ระวังปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อีกทั้งให้ติดตามอัตราเงินเฟ้อเพิ่มจากแรงผลักดันต้นทุนน้ำมัน (Cost push In Flation) อาจกระทบช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และเห็นด้วยกันแนวทางเปิดประเทศ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย เมื่อได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อาวุโส
นายสมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการ บมจ.ไทยประกันภัย และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศษฐกิจกาคลัง กล่าวบรรยายในหัวข้อ “เพิ่มมุมคิด เติมมุมมอง ก้าวข้ามวิกฤต COVID-19” มองว่า การแจกเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการฯ ดูแลค่าครองชีพรายย่อยทำได้เหมือนกับทุกประเทศ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ ประชาชนได้ประโยชน์กลับมา ทั้งพัฒนาความรู้ทางการเงิน ปัญหาหนี้ พัฒนาแรงงาน กระทรวงคลัง และ ธปท. ต้องดึงเอสเอ็มอี รายย่อยที่ตกหล่น มาดูแลปัญหาหนี้ สภาพคล่องให้ครอบคลุมทั่วถึง
มองว่า การดูแลหนี้ภาคประชาชน ผ่านนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เหมือนที่เคยทำในครั้งก่อน โดยคลัง จับมือกับมหาดไทย และอีกหลายหน่วยงาน นับว่ามีความสำคัญ เพื่อลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน แนะนำว่า ควรปรับปรุง บัตรสวัสดิการฯ โดยยึดปรัชญาการพ้นจากความยากจน ไม่ให้รายย่อยถือบัตรสวัสดิการฯตลอดไป เพื่อดูแลเฉพาะคนรายได้น้อย ไม่ใช่กระจายไปทุกกลุ่ม จึงต้องทำความเข้าใจกับภาคการเมืองให้ชัดเจน
นายนิตินัยศิริ สมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ยอมรับว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ คงไม่เดินทางเข้าหวือหวา เหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้รุนแรงมาก จากเดิมต่างชาติบินเข้าประเทศ 4 แสนคนต่อวัน หากเดินทางเข้ามาสัก 2-3 หมื่นต่อวันถือว่ายอมรับได้ ภาคการบินต้องใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่า 2 ปี เพราะเครื่องบินที่จอดอยู่สนามบินสุวรรณภูมิ 100 หลุมจอด กลับมาสัก 50-70 หลุมจอด ถือว่าดีแล้ว และอยากให้รัฐบาลเน้นดูแลสายการบินรายเดิมให้ฟื้นตัว
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอกชนระดมทุนผ่านหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ไทย มูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท ครองอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 8 ของโลก 9 เดือนแรกของปีนี้ มีแนวโน้มดีมาก พฤติกรรมการทำงานผ่านออนไลน์ ทำงาน WFH ในยุคโควิด-19 ทำให้คนรุ่นใหม่เปิดบัญชีเล่นหุ้นถึง 2 ล้านบัญชี สัดส่วนร้อยละ 40 ของบัญชีปัจจุบัน ขณะที่นักลงทุนไทย นับว่าเข้มแข็งออกไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะนี้ต่างประเทศ เน้นความสำคัญบริษัทจดทะเบียนในการดูแลความยั่งยืน และดูแลสิ่งแวดล้อม ต่างจากการทำโครงการ CSR หรือการเขียนรายงาน แต่จะเดินทางเข้ามาดูว่าเอกชนไทยทำโครงการ เห็นผลจริงมากน้อยเพียงใด.-สำนักข่าวไทย