กาญจนบุรี 15 ต.ค. – กรมอุทยานฯ รื้อบ้านพักตากอากาศคู่แฝดสุดหรู ราคา 5 ล้าน คร่อมลำธารธรรมชาติ ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เตรียมฟื้นฟูให้คืนสภาพป่าต้นน้ำ
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรีคนใหม่รายงานว่า ได้รับหนังสือนายเชิดชู ทองชีวงศ์ ฉบับลงวันที่ 11 ต.ค. 2564 แจ้งขอรื้อถอนบ้านพักตากอากาศหรูออกจากอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2545 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ได้ดำเนินการตรวจจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ โดยจับกุมนายเชิดชู ทองชีวงศ์ กับพวกรวม 10 คน พร้อมอุปกรณ์การกระทำความผิด ฐานร่วมกันยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรี เนื้อที่ 14 ไร่ ซึ่งผู้ถูกจับเป็นนอมินีให้นายทุนจากกรุงเทพฯ บุกรุกสร้างบ้านพักตากอากาศริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ โดยสร้างบ้านพักตากอากาศคู่แฝดคร่อมลำธารธรรมชาติ 2 หลัง บริเวณป่าบ้านแม่กว้า หมู่ที่ 1 ตำบลแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
คดีดังกล่าวพนักงานอัยการกาญจนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องนายเชิดชู ทองชีวงศ์กับพวกรวม10 คน เพราะขาดเจตนาการกระทำผิด แต่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์เห็นว่าแม้พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งไม่ฟ้องเพราะขาดเจตนาก็ตาม แต่บ้านพักตากอากาศหรูก็ยังอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นที่ดินของสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พืชผล อาสิน หรือสิ่งอื่นใด ไปให้พ้นจากเขตอุทยานแห่งชาติได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี โดยไม่มีอายุความ
ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จึงได้ออกคำสั่งรื้อถอนบ้านพักตากอากาศหรู ให้นายเชิดชู ทองชีวงศ์ กับพวกรวม 10 คน รื้อถอนบ้านพักตากอากาศดังกล่าว ไปให้พ้นในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรี ซึ่งหากไม่ยอมรื้อถอนจะต้องเสียค่ารื้อถอนบ้านพักตากอากาศหรูเป็นเงิน 379,924 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 25 ต่อปี ซึ่งนายเชิดชู ทองชีวงศ์กับพวกรวม 10 คนได้รับคำสั่งให้รื้อถอนบ้านพักตากอากาศหรูคู่แฟดดังกล่าวแล้ว จึงได้ทำหนังสือมายังอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อขอรื้อถอนบ้านพักตากอากาศหรูดังกล่าวด้วยตนเอง
จากการตรวจสอบการรื้อถอนพบว่า นายเชิดชูได้รื้อประตูหน้าต่างอาคาร ผนัง และหลังคาเป็นบางส่วนประมาณ 30% โดยระบุว่า ต้องใช้เวลาในการรื้อถอนประมาณ 1 เดือน และขออนุญาตนำเครื่องจักรรื้อสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากเดิมให้คืนสู่สภาพเดิมออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จากนั้นทางอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์จะฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณดังกล่าว เพื่อเป็นป่าต้นน้ำต่อไป.- สำนักข่าวไทย