กรุงเทพฯ 4 ต.ค.-กอนช. ออกประกาศ เฝ้าระวังน้ำหลาก และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 6-10 ต.ค.นี้
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2564 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จากการคาดหมายสภาพอากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 5–9 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 6 – 10 ตุลาคม 2564 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้
- เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณในพื้นที่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอเมือง อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอท่าแซะ อำภอปะทิว จังหวัดชุมพร และอำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
- เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นทางระบายน้ำล้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
- ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง บริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่
- ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ
- ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
- ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ .-สำนักข่าวไทย