ทำเนียบฯ 21 ก.ย.- ครม.เห็นชอบแผนใช้เงินกู้ฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท หวังดูแลจ้างงาน SMEs 4 แสนราย มุ่งยกระดับประสิทธิภาพ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย คือ สถานประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร) วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงาน และวัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยขอบเขตโครงการที่จะขอใช้เงินกู้ฯ ต้องมีลักษณะเพื่อเป้าหมายอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
- เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการจ้างงานของ SMEs หรือในชุมชน ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการสร้างรายได้และอาชีพ ให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ วงเงินเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท
- เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการในสาขาที่ไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา และสามารถกระจายผลประโยชน์ไปสู่ระดับฐานราก ยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ โดย ประยุกต์ใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการลงทุนที่สามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับชุมชนและ SMEs เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก
- เพื่อกระตุ้นการบริโภคกระตุ้นตลาด และพยุงอุปสงค์ให้กับธุรกิจ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนหรือครัวเรือน กระตุ้นให้เกิดการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ธุรกิจ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง วงเงินเบื้องต้นในข้อ 2 และข้อ 3 รวมกัน 100,000 ล้านบาท
สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินงาน แบ่งช่วงการพิจารณาอย่างน้อย 2 รอบ คือ รอบแรก เริ่มเดือนตุลาคม 2564 กรอบวงเงิน 100,000-120,000 ล้านบาท รอบที่ 2 เริ่มเดือนมีนาคม 2565 กรอบวงเงิน 50,000-70,000 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ 1.สามารถรักษาการจ้างงานผู้ประกอบการ SMEs ในระบบประกันสังคมได้ประมาณ 3.9 แสนราย 2.เกิดการยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับชุมชนและ SMEs ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนและท้องถิ่น 3.สามารถพยุงระดับการบริโภคภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 .-สำนักข่าวไทย