กรุงเทพฯ 14 ก.ย.-ปตท.ลงนามร่วมทุน ฟ็อกซ์คอนน์ เตรียมจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน เล็งพื้นที่ EEC สร้างโรงงานใหม่ วางระบบการผลิต การบริหาร Supply chain พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม ด้วยเงินลงทุน 1 – 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
วันนี้ (14 ก.ย.) – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานใน พิธีลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual JVA Signing Ceremony) จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และ กรุงไทเป ไต้หวัน เพื่อสร้างฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญของฟ็อกซ์คอนน์ ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้า ผสานกับองค์ความรู้ การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของ กลุ่ม ปตท. ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น โดยมีนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นาย ยัง ลวือ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฟ็อกซ์คอนน์ (Mr. Young Liu, Chairman and CEO of Foxconn) ร่วมลงนาม
ทั้งนี้ การร่วมทุน ดำเนินการโดย บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ PTT ถือหุ้น 100% ร่วมทุน กับบริษัท ลี่ยี่อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ Foxconn ถือหุ้นทั้งหมด ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3,220 ล้านบาท ในสัดส่วน ร้อยละ60 และร้อยละ 40 ตามลำดับ คาดว่าจะสามารถเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 65 และการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/64
นายอรรถพล กล่าวว่า โดย Foxconn จะใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์ม MIH (Mobility-In-Harmony) ผสานกับองคค์วามรู้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของ กลุ่ม ปตท. ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน และทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล
ภายหลังการลงนามจะตั้งบริษัทร่วมทุน เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในประเทศไทย ด้วยบริการครบวงจร ทั้งการออกแบบ ผลิต EV ตลอดจนผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Platform Drivetrain หรือ Motor โดยแผนลงทุนในช่วง 5 – 6 ปี จะเริ่มจากการสร้างโรงงานใหม่ คาดว่าจะอยู่ในพื้นที่ EEC ภาคตะวันออก วางระบบการผลิต การบริหาร Supply chain พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม ด้วยเงินลงทุน 1–2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะสามารถผลิต EV ทั้งคัน ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะของ ฟ็อกซ์คอนน์ โดยเฉพาะ แพลตฟอร์มที่มีทั้ง Hardware และ Software ที่จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนารถ EV ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาด EV และพลิกโฉมภาคการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโดยรวมได้ เบื้องต้นจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี ในการเตรียมพร้อมและเริ่มผลิตออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายการผลิตในระยะแรก 50,000 คัน/ปี และขยายเป็น 150,000 คัน/ปี ในอนาคต
“การร่วมทุนในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ เสริมสร้างทักษะและอาชีพให้กับประชาชน โดยหากประสบผลสำเร็จในระยะแรกจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในระยะต่อไป ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจสู่เวทีโลกในอนาคตแล้ว ยังเป็นการตอบสนองนโยบายและทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย” นายอรรถพล กล่าวเสริม
นาย ยัง ลวือ กล่าวว่า การรังสรรค์นวัตกรรมเป็นค่านิยมหลักที่ฟ็อกซ์คอนน์ยึดถือเสมอมา เช่นเดียวกันกับ ปตท. ที่ขับเคลื่อนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สะท้อนถึงการมีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจในทิศทางเดียวกัน ซึ่งช่วยให้ ปตท. เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญของ ฟ็อกซ์คอนน์ ประกอบกับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนที่เริ่มมีการปรับตัวและเติบโตแบบก้าวกระโดด การผนึกความร่วมมือกับ ปตท. ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถนำเอาประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ของทั้งสององค์กร มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้อย่างแท้จริง และการร่วมทุนในครั้งนี้ยังเป็นอีกชิ้นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตให้สมบูรณ์และแข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมนำพาประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ได้ต่อไป-สำนักข่าวไทย