ทำเนียบรัฐบาล 7 ก.ย. – ไทยร่วมขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี ยึด 3 เสาหลัก “ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ” หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างถ้อยแถลงของประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 11 เตรียมจัดขึ้นวันที่ 8 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลี เป็นประธานร่วม
กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี (Mekong – Republic of Korea Cooperation : Mekong-ROK) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป ลาว เมียนมา เวียดนาม และเกาหลี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงของประธานร่วมฯ มีดังนี้
- การแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี บนพื้นฐานหลัก 3 เสา คือ “ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ” และ 7 สาขาความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ 1) วัฒนธรรมการท่องเที่ยว 2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 3) การเกษตรและการพัฒนาชนบท 4) โครงสร้างพื้นฐาน 5) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6) สิ่งแวดล้อม และ 7) ความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ของโลก และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19
- การย้ำบทบาทของเกาหลีในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาค ผ่านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนามาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยสนับสนุนเงินจำนวน 10.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกองทุน Mekong-ROK Cooperation Fund : MKCF มาตั้งแต่ปี 2556
- การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม และขนาดกลาง (MSMEs) เพื่อช่วยกระตุ้นความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน
- การสอดประสานระหว่างกันของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady – Choa Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS)
- ความร่วมมือในประเด็นระดับภูมิภาคและโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล. – สำนักข่าวไทย