นนทบุรี 23 ส.ค.-รัฐมนตรีพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกเดือน ก.ค.64 ยังเป็นบวกต่อเนื่องร้อยละ 20.27 เป็นเดือนที่ 10 สูงสุดในรอบ 11 ปี แต่น้อยกว่าเดือนมิ.ย. เนื่องจากผลกระทบโควิดทั่วโลก แต่หากดูตัวเลข 7 เดือนบวกถึงร้อยละ 16.20 มั่นใจทั้งปีบวกมากกว่าเป้าร้อยละ 4 ได้แน่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศในเดือนกรกฎาคม 64 พบว่า ยอดการส่งออกยังเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 20.27 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
เป็นเดือนที่ 10 ถือว่าสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 22,650.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากหักทองคำและนำ้มันรวมถึงยุทธปัจจัยต่างๆตัวเลขส่งออกของไทยบวกถึงร้อยละ 25.38 โดยการส่งออกเดือนกรกฎาคมถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้ทิศทางการส่งออกของโลกอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในหลายประเทศทั่วโลกกลับมา จึงทำให้การส่งออกไปตลาดของไทยติดขัดไปบ้าง โดยทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงเดินหน้าร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรรต่างๆ รวมถึงเร่งเจาะตลาดต่างๆอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรปและอีกหลายประเทศเพื่อให้การส่งออกในแต่ละเดือนให้สูงขึ้น
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าในเดือนกรกฎาคม 64 อยู่ที่ 22,467.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นบวกร้อยละ 45.94 โดยไทยยังได้ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 64 อยู่ที่ 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกปี 64 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 64 โดยเป็นยอดส่งออกทั้งสิ้น 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึงร้อยละ 16.20 ส่วนการนำเข้ามียอดอยู่ที่ 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นบวกร้อยละ 28.73 ทำให้ไทยเกินดุลการค้าช่วง 7 เดือนอยู่ที่ 2,622.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดียังคงเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสด ผลไม้ไทยของไทยหลายตัวยังมีความต้องการของตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ถุงมือยางที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นส่งผลดีกับราคายางพาราของไทยในช่วงนี้ดีขึ้นด้วย รวมถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยเริ่มส่งออกได้มากขึ้น แม้ว่าทั้งโลกรวมถึงไทยยังเจอปัญหาโควิด-19 ระบาดก็ตาม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกไทยในเดือนถัดไป โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ อาจจะทำให้ภาคการผลิตมีปัญหาบ้างจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้บางโรงงานผลิตสินค้าที่ต้องปิดการผลิตสินค้าไปบ้าง จึงมองว่าในช่วง 2 เดือนนี้อาจจะทำให้การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของไทยมีปัญหา แต่กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับภาคเอกชนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่ยังมองว่าแม้ปัญหาโควิดทั่วโลกยังระบาดอยู่ แต่เชื่อว่าโอกาสและความต้องการสินค้าไทยโดยเฉพาะอาหารและผลไม้ไทยจากทั่วโลกมีความต้องการสูง ซึ่งการทำงานทั้งข้าราชการและภาคเอกชนโดยเฉพาะการเดินหน้าหาตลาดใหม่เพื่อเร่งผลักดันการส่งออกเป็นภาระกิจสำคัญ ดังนั้น ยังคงมองว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 64 บวกได้เกินร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 240,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะยังไม่มีการปรับคาดการณ์ตัวเลขส่งออกของไทยที่กระทรวงพาณิชย์มองไว้ปีนี้น่าจะเติบโตไม่น้อยกว่าน้อยละ 4 แม้ว่าขณะนี้ตัวเลยส่งออกของไทยจะเติบโตแล้วกว่าร้อยละ 16.20 ก็ตาม ดังนั้น จึงคิดว่าตัวเลขส่งออกจะเติบโตแค่ไหนถือเป็นตัวเลขที่ท้าทายที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำงานแก้ทำให้ดารส่งออกของไทยดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เท่าที่ได้รับรายงานเกี่ยวกับตู้ขนส่งสินค้าที่เคยคาดแคลนมีไม่เพียงพอต่อการส่งออกนั้น หลังจากที่ได้แก้ไขปัญหาตรงนี้ร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถบริหารจัดการแก้ไขให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบ โดยปริมาณตู้ขนส่งสินค้ามีเพียงพอต่อปริมาณสินค้าที่จะส่งออกได้แล้ว แต่อาจจะมีบางช่วงที่จะขาดแคลนไม่บ้าง แต่โดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการได้เป็นอย่างดี.-สำนักข่าวไทย