กรุงเทพฯ 21 ก.ค. – นายกรัฐมนตรี เปิดเวทีหารือ 40 CEOs พลัส ร่วมกับหอการค้าไทย เสนอ 4 เรื่องเร่งด่วน แก้ปัญหาโควิด-19
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังประชุมหารือผ่านระบบ Video Conference ของคณะผู้บริหารหอการค้าไทย และ 40 CEOs พลัส กับนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงและกังวล เรื่องการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยและซบเซาอย่างมาก
ทั้งนี้ หอการค้าไทย และภาคเอกชน 40 CEOs พลัส พร้อมที่จะสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกันกับภาครัฐ โดยการหารือในครั้งนี้ ภาคเอกชนพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น สำหรับเป็นแนวทางวางแผนเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เสนอแนวทางและความคิดเห็น 4 ประเด็น ดังนี้
- การควบคุมการแพร่ระบาด
1.1 จัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชน ร่วมกับ กทม. มีความสามารถที่จะเสริมการฉีดและรองรับการกระจายวัคซีนได้ทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้
1.2 การจัดยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และมาตรการ Isolation
จัดให้มี Rapid Tests อย่างทั่วถึง
สนับสนุนให้เอกชนจัดสถานที่ Isolation
จัดให้มียารักษาอย่างพอเพียง
เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักและ ICU โดยเฉพาะในเขตสีแดงและแดงเข้ม
2. การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน
2.1 ขยายมาตรการที่เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกินกว่า 90 วัน ให้ได้รับการช่วยเหลือ
2.2 เร่งรัดออกมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ
เร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี
เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU จำนวน 500,000 ราย พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการนำแรงงานใหม่เข้ามา โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการกักตัวและตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
เร่งตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อป้องกันภาคการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก
- การกระตุ้นเศรษฐกิจ
3.1 กระตุ้นผู้มีรายได้ และผู้มีกำลังซื้อสูง นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ภายใน 1 ไตรมาส
3.2 กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ภาคการลงทุนคึกคัก และเกิดการจ้างงานหลายแสนราย โดยภาคเอกชน ซึ่งอยากให้ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำพิเศษจากสถาบันการเงิน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล และ BOI
3.3 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
3.4 ทบทวนความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy โดยกำหนดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเฉพาะธุรกิจบางประเภท และกำหนดโครงสร้างฐานภาษีใหม่ - การฟื้นฟูประเทศไทย
4.1 การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด โดยมีตัวอย่างความร่วมมือของ Alliances for Actions (AfA) จากประเทศสิงคโปร์ มุ่งเป้าความสำเร็จในเรื่องที่มี Impact สูง และคนไทยได้ประโยชน์ เช่น เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพสูง การศึกษายุคใหม่ และ Food for future เป็นต้น
4.2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วย Digital Transformation โดยเสนอให้มี Super App. ที่ช่วยอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ซึ่งต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจน
หลังจากที่ภาคเอกชนได้นำเสนอและแสดงความคิดเห็น นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางและนโยบายเพิ่มเติม เพื่อการบูรณาการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน ดังนี้
ขอขอบคุณภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนการป้องกันการระบาดให้ประชาชนในทางต่างๆ โดยภาครัฐก็ยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน
รัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนช่วยเจรจาหาวัคซีนที่ดีมีคุณภาพ เสริมจากที่ทางรัฐบาลได้เตรียมการไว้ เพื่อให้ประชาชนได้วัคซีนเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนที่ได้มีการหารือในวันนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และข้อเสนอแนะของ 40 CEOs พลัส นายกรัฐมนตรีได้รับไว้ และจะพิจารณาดำเนินการร่วมกันต่อไป โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้บริหาร 40 CEOs พลัส ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่ได้รับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคเอกชนในวันนี้ โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้ภารกิจในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นไปอย่างบรรลุเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เข้มแข็งต่อไป. – สำนักข่าวไทย